ไทยติด COVID-19 เพิ่ม 14,403 คน เสียชีวิต 189 คน

สังคม
10 ก.ย. 64
07:54
1,030
Logo Thai PBS
ไทยติด COVID-19 เพิ่ม 14,403 คน เสียชีวิต 189 คน
ไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 14,403 คน หายป่วยเพิ่ม 15,610 คน เสียชีวิต 189 คน ขณะที่กรมควบคุมโรคเชิญชวนโรงงานอุตสาหกรรมจัดทำแผนทำบับเบิลแอนด์ซีล เพื่อควบคุมและป้องกันโรค

วันนี้ (10 ก.ย.2564) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 14,403 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 12,770 คน ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 1,275 คน ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 341 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 17 คน

ขณะนี้มีผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 สะสม 1,324,090 คน หายป่วยเพิ่ม 15,610 คน หายป่วยสะสม 1,169,965 คน กำลังรักษา 141,642 คน เสียชีวิต 189 คน

 

ชวนโรงงานทำแผนบับเบิลแอนด์ซีล

ขณะที่กรมควบคุมโรค นำมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) มาใช้ควบคุม COVID-19 ในโรงงาน โดยออกแบบ 2 ระบบคือระบบการควบคุมโรคซึ่งใช้ในพื้นที่ความคุมสูงสุดและเข้มงวด เช่น จ.สมุทรสาคร ในช่วงเดือนมกราคม 2564 แต่ละแห่งมีพนักงานจำนวนมาก โดยทำการคัดแยกผู้ติดเชื้อ มาแยกกักรักษาตัวที่ รพ.สนาม หรือสถานที่แยกกักอื่น ๆ ส่วนพนักงานในโรงงาน ที่สัมผัสโรคแต่ไม่ป่วย ให้โรงงานจัดที่พักในโรงงานแยกจากครอบครัว ชุมชนและให้สามารถทำงานได้ พบว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในช่วงสั้น ๆ ประมาณ 4 สัปดาห์ จึงได้พัฒนามาสู่ระบบบับเบิลแอนด์ซีลเพื่อป้องกันโรคในโรงงานที่ยังไม่มีการระบาด ซึ่งมีมากกว่าโรงงานที่มีผู้ติดเชื้อ

หลังจากที่ดำเนินการในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผลพบว่าแทบไม่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 หรือมีก็น้อยมากและสามารถควบคุมได้เร็ว ทั้งแรงงานและโรงงานไม่ต้องหยุดการผลิต พนักงานยังมีรายได้ปกติ โรงงานสามารถผลิตได้เต็มศักยภาพ ไม่กระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ เชิญชวนให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งทั้งขนาดเล็กหรือใหญ่ ให้จัดทำแผนทำบับเบิลแอนด์ซีล เพื่อการป้องกันโรค โดยแบ่งกลุ่มพนักงานที่ไลน์การผลิตเดียวกันออกเป็นกลุ่มย่อยๆ (small bubble) ไม่ปะปนกัน เพื่อจำกัดการแพร่เชื้อระหว่างกลุ่ม เนื่องจากจะตรวจสอบและควบคุมได้ ลดการแพร่ระบาดทั้งโรงงาน ไม่ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตของโรงงาน

นอกจากนี้ ทุกโรงงานต้องมีการสุ่มตรวจการติดเชื้อพนักงานด้วย Antigen Test Kit (ATK) เพื่อเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งหรือมากกว่า แรงงานที่ไม่พบการติดเชื้อก็สามารถผลิตต่อไปได้ไม่ต้องหยุด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง