"โกนเซิน" อ่อนกำลังเป็นดีเปรสชัน เตือนฝนตกหนัก 37 จังหวัด

ภัยพิบัติ
12 ก.ย. 64
08:50
3,779
Logo Thai PBS
"โกนเซิน" อ่อนกำลังเป็นดีเปรสชัน เตือนฝนตกหนัก 37 จังหวัด
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ "โกนเซิน" อ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชัน เคลื่อนขึ้นฝั่งเมืองกวางงาย เวียดนาม กระทบไทยฝนตกหนัก 37 จังหวัด 12-13 ก.ย.นี้ ขณะที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นทางระบายน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ น้ำล้นตลิ่ง

วันนี้ (12 ก.ย.2565) เวลา 05.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่องพายุดีเปรสชัน “โกนเซิน” ฉบับที่ 11 ว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ พายุโซนร้อนโกนเซิน ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว และได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนาม หรืออยู่ที่ละติจูด 15.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้า ๆ คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนามในระยะต่อไป

ในขณะที่ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่พายุดีเปรสชันโกนเซิน บริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้

 

ฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง วันที่ 12 ก.ย.

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
  • ภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี และตราด

ฝนตกหนักบางแห่ง วันที่ 13 ก.ย.

  • ภาคเหนือ แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก ตาก และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และกาญจนบุรี
  • ภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด

ทั้งนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2564

นายกฯ ลงพื้นที่น้ำท่วมสมุทรปราการ

ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศในวันที่ 12 ก.ย.2564 พบว่า ทุกภาคของประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยแม่น้ำสายหลัก ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และแม่น้ำโขง มีน้ำน้อยถึงปกติ แนวโน้มลดลง

ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 44,649 ล้าน ลบ.ม. (54%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,490 ล้าน ลบ.ม. (55%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 10 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก จำนวน 6 แห่ง (อ่างฯ แม่มอก ลำตะคอง ลำพระเพลิง อ่างฯ มูลบน ขุนด่านปราการชล และอ่างฯ นฤบดินทรจินดา)

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมนำคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ จ.สมุทรปราการ เพื่อติดตามความพร้อมแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ณ สะพานน้ำยกระดับ สถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พร้อมหารือหน่วยเกี่ยวข้องวางแผนป้องกันผลกระทบพื้นที่ที่อาจได้รับอิทธิพลจากพายุ "โกนเซิน"

 

เฝ้าระวังน้ำหลาก-ดินถล่ม-น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศ ฉบับที่ 10/2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นทางระบายน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและน้ำล้นตลิ่ง ให้หน่วยงานดำเนินการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำหลาก เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรง และพายุโซนร้อนกำลังแรง “โกนเซิน” (CONSON) บริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย ในช่วงวันที่ 12–16 ก.ย.2564 ดังนี้

ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ

  • บริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้หน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก และเร่งระบายน้ำในแม่น้ำ สำหรับคลองชายทะเลให้พร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ 30% เพื่อรองรับฝนตกหนักในพื้นที่และน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน
  • หากเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ใด ให้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้มากที่สุด และใช้อาคารชลศาสตร์จัดจราจรน้ำ เพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและเร่งระบายน้ำเพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง