อาลัย "ทมยันตี" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

Logo Thai PBS
อาลัย "ทมยันตี" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ "คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์" หรือ ทมยันตี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2555

วันนี้ (13 ก.ย.2564) สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ขอแสดงความอาลัยยิ่งต่อการจากไปของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี, ลักษณวดี, กนกเรขา, โรสลาเรน, มายาวดี) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2555

สำหรับคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ ทมยันตี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2555 เกิดเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2479 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จ.พระนคร

จบการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จากนั้นศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนมาศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทมยันตี เป็นนักโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ร่วมทีมกับสมัคร สุนทรเวช และชวน หลีกภัย โดยใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือในห้องสมุดหลายแห่ง และตัดสินใจไม่ไปสอบเพื่อรับปริญญา ทำให้สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาแทน

ในขณะศึกษาระดับชั้นปีที่ 3 เพื่อนได้ชักชวนให้ไปสมัครเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ จึงลาออกเพื่อไปประกอบอาชีพครู และเขียนหนังสือไปพร้อมๆ กัน ต่อมา จึงเลิกสอนหนังสือและหันมาเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวจนถึงปัจจุบัน

เริ่มเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยม 4 ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ศรีสัปดาห์ และได้เขียนเรื่องสั้นต่อเนื่องอยู่ถึง 11 ปี ขณะที่เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรก คือเรื่อง ในฝัน เมื่ออายุ 19 ปี ใช้นามปากกา โรสลาเรน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์

นวนิยายเรื่อง ในฝัน สร้างชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างมาก ทำให้มีโอกาสเขียนนวนิยายลงในนิตยสารอีกหลายฉบับ นามปากกา ลักษณวดี ทมยันตี และกนกเรขา แต่นามปากกาที่โดดเด่น คือ ทมยันตี

ความสำเร็จและชื่อเสียงจากงานประพันธ์ทำให้ ทมยันตี ยึดอาชีพนักประพันธ์เลี้ยงชีพแต่เพียงอย่างเดียวมาจนถึงปัจจุบัน ได้สร้างสรรค์นวนิยาย มีแนวเรื่องหลากหลายคือ นวนิยายรัก นวนิยายสะท้อนสังคม นวนิยายอิงการเมือง นวนิยายแฟนตาซีหรือ จินตนิมิต นวนิยายเหนือจริงแนวข้ามชาติข้ามภพ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ นวนิยายตลก นวนิยายแนวศาสนาและจิตวิญญาณ

นวนิยายเรื่องเด่นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น คู่กรรม ทวิภพ ค่าของคน ในฝัน เลือดขัตติยา ดั่งดวงหฤทัย มงกุฎที่ไร้บัลลังก์ โซ่สังคม ล่า รอยมลทิน เมียน้อย ใบไม้ที่ปลิดปลิว นายกหญิง สตรีหมายเลข 1 พ่อปลาไหล ร่มฉัตร อตีตา สุริยวรรมัน กษัตริยา แก้วกัลยา อธิราชา ฌาน จิตา มายา ฯลฯ

นวนิยายหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวที และภาพยนตร์ ซ้ำหลายครั้งหลายหน อันทำให้เป็นนวนิยายอมตะในวงวรรณกรรมไทย เช่น คู่กรรม ทวิภพ

นวนิยายของทมยันตีมีพลังทางวรรณศิลป์อย่างสูง สามารถโน้มน้าวอารมณ์ผู้อ่านให้เพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่องตัวละครมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะตัวละครหญิง ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของผู้หญิงแกร่ง เฉลียวฉลาด และมีความสามารถเท่าเทียมผู้ชาย บทสนทนาของตัวละครเป็นจุดเด่นเพราะใช้ภาษาที่สื่ออารมณ์ได้เข้มข้น เชือดเฉือนใจ

และแม้ว่านวนิยายส่วนใหญ่จะนำเสนอเรื่องราวความรักของหนุ่มสาว แต่มักเน้นว่าเหนือกว่าความรักคือหน้าที่ความรับผิดชอบ ความเสียสละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อรักษาชาติ รักษาแผ่นดิน นวนิยายของทมยันตีจึงไม่เพียงให้ความบันเทิงใจ แต่กระตุ้นสำนึกและจิตวิญญาณด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง