โควิด-19 ทำคนยากจนเพิ่ม

เศรษฐกิจ
14 ก.ย. 64
19:21
1,794
Logo Thai PBS
โควิด-19 ทำคนยากจนเพิ่ม
โควิด-19 ทำให้คนไทยหลายแสนคน หล่นไปอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน รัฐบาลมีหนี้เพิ่มขึ้น เก็บภาษีได้ลดลง รายได้ในภาคธุรกิจลดลง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนสถานการณ์ ไม่จำเป็นต้องตระหนก เพราะโควิด-19 ระบาดทั่วโลก แต่ถ้ารับรู้แล้วก็จะได้ป้องกันไม่ให้แย่กว่านี้

วันนี้ (14 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นิยามของคำว่า "จนลง" ของแต่ละคน ความหมายไม่เท่ากัน บางคนบอกจนลง เพราะถูกตัดโอที แต่ยังมีเงินเดือน ยังมีที่อยู่ แต่สำหรับบางคนจนลง คือไร้งาน ไร้การเรียน และไร้ที่อยู่

ก่อนที่นางวราภรณ์ ชาญเชี่ยว ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยจากโควิด-19 หรือแม่อ้อมและลูกชาย จะต้องเร่ร่อนหาที่อยู่ใหม่ ได้พาทีมข่าวไปดูที่พักชั่วคราวภายในปั๊มแก๊สแห่งหนึ่งย่านบางนา และกำลังจะเก็บข้าวของเตรียมย้ายออกไป เพราะเจ้าของร้านขายอาหารในปั๊มติดเชื้อโควิด-19 และลูกชายผู้ติดเชื้อไม่ให้พักอาศัยอีกต่อไป

ก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 คน เคยอาศัยอยู่ในบ้านเช่าไม่ไกลจากที่นี่ แต่เพราะโควิด-19 งานรับจ้างทั่วไป งานรับดูดวงหายเกลี้ยง ค้างค่าเช่าบ้านจนต้องออกมาเร่ร่อน แม้จะได้รับเงินเยียวยาบางส่วนจากรัฐบาล แต่ไม่พอซื้อโทรศัพท์ใหม่แทนเครื่องที่ให้ลูกเรียนออนไลน์ โทรศัพท์ที่ใช้ก็ไม่สามารถใช้ดูดวงผ่านโทรศัพท์ให้มีรายได้ได้

กรณีแม่อ้อมและลูกชายเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของคนจำนวนมากที่โควิด-19 ซ้ำเติมความยากจน จนไม่มีแม้แต่ที่อยู่อาศัยในกรุง อาหารของลูกต้องขอมาก่อนแล้วจ่ายเงินทีหลัง

รายได้ลด ความจำเป็นในการก่อหนี้ก็มากขึ้น หนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้นเร็วในวิกฤตโควิด-19 จาก 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2562 ก่อนการระบาด เพิ่มเป็น 90.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อต้นปี 2564 สูงเป็นอันดับที่ 17 ของโลก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี คาดว่าสิ้นปีนี้ จะเพิ่มขึ้นไปที่ 93 เปอร์เซ็นต์

ปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ธนาคารโลกมองแนวโน้มความยากจนของคนไทยจะเพิ่มขึ้นใน 2 แบบ ถ้ามีมาตรการช่วยเหลือทางสังคม สัดส่วนความยากจนจะลดลง แต่หากขาดมาตรการที่เพียงพอ ความยากจนอาจเพิ่มจาก 6.2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 7.4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2563 เพิ่มมากขึ้นอีก 700,000 คน และลดลงมาเหลือ 7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2564 แต่ยังมากอยู่ดี

ถ้าพูดถึงมาตรการที่ไทยนำมาใช้ดูแลผู้มีรายได้น้อยมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จนปัจจุบัน คือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมระยะเวลาที่ใช้งานมากว่า 3 ปีแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างสรุปปรับปรุงเกณฑ์คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ จากเดิมพิจารณารายได้รายบุคคล เป็นทั้งครัวเรือน

สตง.เพิ่งสุ่มตรวจรายชื่อผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ จำนวน 100 คน พบว่าเสียชีวิตแล้ว 22 คน แต่ยังคงมีการใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ซึ่งในเอกสารร่างประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 กระทรวงการคลัง ตั้งเป้าหมายจะลดจำนวนคนจนปีละ 500,000 คน โดยขอจัดสรรงบฯ ในกองทุนประชารัฐ ปี 2566-2567 จำนวน 77,000 ล้านบาท นี่คือปัญหาความยากจนในระดับฐานราก และเครื่องมือที่ใช้มาต่อเนื่อง

ถ้าเรามองระดับใหญ่ขึ้นมา ในระดับธุรกิจจำนวนมากรายได้ลดลง หรือต้องหยุดกิจการชั่วคราว หรือเลิกไปเลยถาวร โดยเฉพาะธุรกิจในข่ายการควบคุมการระบาด สำหรับธุรกิจที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง จำนวนมากเลิกประกอบกิจการไปในช่วงโควิด-19 มากกว่า 27,000 ราย เดือนที่สูงที่สุดคือ ธ.ค.2563 ที่เลิกกิจการไป 6,013 ราย

ธุรกิจหลักๆ ที่เลิกกิจการไป คือธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร หลายธุรกิจที่มาจ่อเลิกช่วงปลายปี เพราะโควิด-19 ขณะที่การตั้งธุรกิจใหม่ก็ลดลง

นอกจากประชาชนและธุรกิจจะจนลงแล้ว ประเทศไทยหรือรัฐบาลไทยก็จนลงเช่นกัน ก่อหนี้เพิ่ม แถมรายได้น้อยลง หนี้สาธารณะสูงขึ้น 2 ล้านล้านบาทในเวลา 2 ปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีและรายได้จากรัฐวิสาหกิจนำส่งเข้ารัฐน้อยลง ปีงบประมาณนี้ รายได้รัฐบาลต่ำกว่าประมาณการไปกว่า 200,000 ล้านบาท ความจนสัมพันธ์ทั้งประชาชน ภาคธุรกิจ และรัฐบาล

ขณะนี้ที่รัฐบาลต้องทำ คือสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อสำคัญที่สุด ไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ให้เศรษฐกิจชะงักมากขึ้น เช่น ไม่เกิดระบาดระลอกใหม่ การเมืองไม่ปั่นป่วน สิ่งที่ต้องทำคือสนับสนุนให้เศรษฐกิจที่พร้อมขับเคลื่อนไปได้ ฐานะรายได้ทั้งประเทศและทุกส่วนจะดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง