วิเคราะห์ : จับสัญญาณศึกชิงอำนาจในกลุ่มตอลีบาน

ต่างประเทศ
15 ก.ย. 64
20:14
439
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : จับสัญญาณศึกชิงอำนาจในกลุ่มตอลีบาน
ครบรอบ 1 เดือนหลังกลุ่มตอลีบานยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีของกลุ่มตอลีบาน

วันนี้ (15 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเมืองภายในของกลุ่มตอลีบานร้อนแรง จนกลายเป็นศึกชิงอำนาจของสมาชิกระดับสูงในกลุ่ม ข้อถกเถียงเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในเกิดขึ้นหลังจาก อับดุล กานี บาราดาร์ หายหน้าหายตาไป ซึ่งผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า บาราดาร์อาจได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตไปแล้ว

สมาชิกระดับสูงของกลุ่มตอลีบานในกาตาร์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว BBC ภาคภาษาพัชโต ว่า ความขัดแย้งระหว่างบาราดาร์กับรัฐมนตรีคนหนึ่ งเกิดขึ้นที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงคาบูล เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ความขัดแย้งในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากบาราดาร์รู้สึกไม่พอใจต่อการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี

ใต้ร่มของโครงสร้างรัฐบาลรักษาการ บาราดาร์ได้รับการแต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี คู่ขัดแย้งของบาราดาร์ คือ ซีราจุดดิน ฮัคคานี ผู้นำเครือข่ายฮัคคานี เจ้ากระทรวงมหาดไทย ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายพยายามอ้างผลงานจากการคว้าชัยชนะของกลุ่มตอลีบานในการยึดอัฟกานิสถาน โดยบาราดาร์อ้างว่าความสำเร็จมาจากการทูต ส่วนฮัคคานีอ้างว่าความสำเร็จมาจากการใช้กำลังในการต่อสู้กับกองทัพอัฟกันและกองกำลังต่างชาติ

โฆษกกลุ่มตอลีบาน ชี้แจงว่า บาราดาร์ได้เดินทางไปยัง จ.กานดาฮาร์ เพื่อพบกับผู้นำสูงสุด แต่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ภาคภาษาพัชโตว่า บาราดาร์เหนื่อยและต้องการพักผ่อน ด้านเว็บไซต์ของกลุ่มตอลีบานเผยแพร่คลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นของบาราดาร์เพื่อสยบข่าวลือ

 

อีกคนหนึ่งที่ไม่เคยปรากฏตัว คือ ฮีบาตุลลาห์ อาคุนด์ซาดา ผู้นำสูงสุดของกลุ่มตอลีบาน เขาไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะนับตั้งแต่ก้าวขึ้นมานั่งตำแหน่งผู้นำสูงสุด เมื่อปี 2016

หากถามชาวอัฟกันจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับเรื่องนี้ คงจะไม่ใช่ปรากฏการณ์แปลกใหม่ กลุ่มตอลีบานเคยปิดข่าวการเสียชีวิตของมุลลาห์ โอมาร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มมานานไม่ต่ำกว่า 2 ปี กระแสข่าวเหล่านี้เกิดขึ้นในวันครบรอบ 1 เดือน หลังจากกลุ่มตอลีบานยึดอัฟกานิสถานสำเร็จ

ความเปลี่ยนแปลงชัดเจนคงหนีไม่พ้นการออกกฎระเบียบควบคุมการทำกิจกรรมของผู้หญิง โดยเฉพาะการห้ามไม่ให้ผู้หญิงเรียนหนังสือและทำงานร่วมกับผู้ชายตามกฎหมายชารีอะห์

อีกภาพที่ถูกพูดถึง คือ นักรบตอลีบานเล่นรถบั๊มในสวนสนุกคาบูล ซิตี้ พาร์ค อย่างสนุกสนาน คำถามคือกลุ่มตอลีบานพยายามปรับภาพลักษณ์ หรือเพียงแค่ต้องการพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น เนื่องจากในช่วงที่ตอลีบานเรืองอำนาจเมื่อปี 1996-2001 สวนสนุกเป็นหนึ่งในสิ่งต้องห้ามของกลุ่ม

แต่แนวทางในการปรับภาพลักษณ์ของกลุ่มตอลีบานคงจะต้องจับตามองต่อไปในระยะยาว และในกลุ่มเองก็มีความเข้มข้นหลายระดับสำหรับสมาชิก จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการปรับภาพลักษณ์ของกลุ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง