ตกค้าง! วันละ 54 ตัน คพ.ห้ามกำจัด "ขยะโควิด" ในเตาเผาศพ

สิ่งแวดล้อม
16 ก.ย. 64
14:48
2,584
Logo Thai PBS
ตกค้าง! วันละ 54 ตัน คพ.ห้ามกำจัด "ขยะโควิด" ในเตาเผาศพ
คพ.สั่งห้ามเผาขยะโควิดปนในเตาเผาศพ ห่วงปนเปื้อนเชื้อโรค-ก่อมลพิษ ด้านนักวิชาการประเมินขยะติดเชื้อกองล้นเผาไม่ทัน 54 ตันต่อวัน ชี้เสี่ยงจุดแพร่เชื้อปล่อยทิ้งตากแดดตากฝน ต้องเก็บในอุณหภูมิ 10 องศาฯไม่ให้เน่าเหม็น จี้ศบค.ปลดล็อกเปิดทางเผาในเตาขยะอุตสาหกรรม

กรณีพบมีการนำขยะติดเชื้อจากผู้ป่วย COVID-19 ไปเผาในเตาเผาศพอย่างต่อเนื่องทุกวัน จนเตาเผาชำรุดเกิดไฟไหม้เสียหาย เช่น วัดในจ.ตราด บุรีรัมย์ ที่รับขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลสนามเข้าเผาทำลายจนเตาเผาพัง  

วันนี้ (16 ก.ย.2564) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เรื่องนี้คพ.ค่อนข้างเป็นห่วง เพราะวัดหลายแห่ง และท้องถิ่นอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และคิดว่าขยะติดเชื้อ เช่น กระดาษทิชชู ชุดตรวจ ATK หน้ากากอนามัย ชุด PPE จะนำไปเผาทำลายในเตาเผาศพได้

นายอรรถพล กล่าวว่า เตาเผาศพ ส่วนใหญ่มีอุณหภูมิที่ใช้ในการเผาต่ำกว่าเตาเผาขยะติดเชื้อที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545 ซึ่งในการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ จะต้องใช้ความร้อนสูง ประกอบกับเตาเผาศพไม่มีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ จึงก่อให้เกิดปัญหากลิ่น ฝุ่นละออง ก๊าซพิษ รวมถึงโลหะหนักต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

การก่อสร้างเตาเผาศพไม่ได้ถูกออกแบบให้มีความแข็งแรง คงทน ที่จะเผาอย่างต่อเนื่องทุกวัน จึงไม่ควรนำขยะติดเชื้อไปเผาในเตาเผาศพ อาจจะก่อมลพิษออกมาได้
ภาพ:กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ:กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ:กรมควบคุมมลพิษ

เล็งปรับเกณฑ์ให้เผาขยะติดเชื้อในโรงงานอุตสาหกรรม

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การกำจัดขยะติดเชื้อทั้งที่เกิดจากการรักษาตัวที่บ้าน การรักษาตัวในชุมชน หรือศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อก่อนส่งต่อ ต้องประสานเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงมาเก็บรวบรวม เพื่อนำไปเผาในเตาเผาที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ

เพราะจะมีห้องเผาที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 760 องศาเซลเซียส และมีห้องเผาควันด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส มีการควบคุมมาตรฐานอากาศเสียที่ปล่อยออกจากเตาเผาตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีความปลอดภัย

ส่วนปัญหาขยะติดเชื้อล้นระบบตกค้างอยู่ที่เตาเผาของ อปท.และของเอกชน อยู่ระหว่างการหารือเพื่อปรับเกณฑ์ภาครัฐ ให้สามารถนำขยะติดเชื้อ กำจัดในเตาเผาโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงเป็นการชั่วคราวได้

อ่านข่าวเพิ่ม น่าห่วง! ขยะติดเชื้อเพิ่ม 294 ตันต่อวันเกินศักยภาพกำจัด

ภาพ:กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ:กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ:กรมควบคุมมลพิษ

ขยะตกค้างรอเผาเฉลี่ย 54 ตันต่อวัน 

ด้านนายสนธิ คชวัฒน์  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การที่ท้องถิ่นนำขยะติดเชื้อไปเผาที่เตาเผาศพจนเกิดเมรุระเบิด เป็นเรื่องจริง เพราะไม่มีทางออกในการจัดการขยะติดเชื้อ จากการสำรวจตัวเลขขยะติดเชื้อมีสูงถึงวันละ 300-330 ตันต่อวันและตอนนี้ประเมินว่ามีขยะที่เหลือตกค้างจากการอย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 54 ตัน

การที่เอาขยะติดเชื้อไปเผาในเตาเผาศพ เพราะเข้าใจว่าเผาทำลายได้แบบศพคน ซึ่งไม่ใช่ เพราะขยะติดเชื้อที่มีทั้งเศษพลาสติก ถุงมือ ชุด PPE และอื่นๆ หากเผาไหม้ไม่สมบูรณ์นอกจากสารเคมีที่ก่อมลพิษแล้วยังมีเชื้อโรคอีก
ภาพ : สนธิ คชวัฒน์

ภาพ : สนธิ คชวัฒน์

ภาพ : สนธิ คชวัฒน์

 

นายสนธิ กล่าวว่า ภาพที่เห็นคือการนำขยะติดเชื้อที่เก็บมาเพื่อรอกำจัด ไปกองที่หน้าเตาเผาขยะทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ ที่หนักสุดคือ อบจ.นนทบุรี ประมาณ 600 ตัน เพราะเตาเผามีศักยภาพแค่ 30 ตันต่อวัน ส่วนที่อบจ.ระยอง มีขยะติดเชื้อตกค้าง 500 ตัน เพราะเผาได้แค่ 3 ตันต่อวัน ซึ่งจุดนี้รับขยะติดเชื้อทั้งภาคตะวันออก นอกจากนี้ยังมีที่จ.กาญจนบุรี 

ตอนนี้ 54 ตันต่อวันเหลือเผาทำลายไม่ทันจากที่เก็บทั้งประเทศ 300-330 ตันต่อวัน และเฉลี่ยถ้า 14 แห่งเผาเต็มศักยภาพได้เพียง 274 ตันต่อวัน ส่วนที่เหลือตกค้างไม่รู้จะไปไหน ไปกองที่หน้าเตาเผาขยะ

ถ้าลองไปสุ่มดูเตาเผาขยะติดเชื้อหลายแห่ง มีสภาพถุงแดงกองล้นออกจากที่เก็บแล้ว ปกติถ้าภายใน 7 วันยังไม่เผาทำลายจะต้องเก็บในอุณภูมิ 10 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้เชื้อโรคเจริญเติบโต เกิดการเน่า และอาจจะมีกลิ่นและน้ำเสียที่ชะออกมาได้ น่าเป็นห่วงมาก
ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

แนะทางออกชงเสนอศบค.ปลดล็อก

นายสนธิ กล่าวอีกว่า ส่วนทางออกแก้ขยะติดเชื้อล้น ก่อนหน้านี้มีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานราช การ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ขอให้กรมอนามัย ในฐานะที่เป็นผู้ออกกฏกระทรวงการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้นำขยะติดเชื้อไปเผาในเตาเผาขยะติดเชื้อและการกำจัดตามที่กระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบเท่านั้น

ขอให้นำเสนอศบค.ชุดใหญ่ เพื่ออาศัยอำนาจในภาวะฉุกเฉิน และการควบคุมโรคระบาดช่วยเปิดทางให้นำขยะติดเชื้อไปเผาในเตาเผาขยะชุมชนที่ผลิตไฟฟ้า และเตาเผาขยะโรงงานอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ซึ่งยังไม่มีการนำเสนอ ศบค. ชุดใหญ่ให้มีมติเปิดทาง

ดังนั้นกรมโรงงาน และสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน จึงยังต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงของตนเองที่ห้ามเอาขยะติดเชื้อมาเผาในขยะอุตสาหกรรม และขยะชุมชน ไม่สามารถขอให้โรงงานเหล่านี้ช่วยเผาขยะติดเชื้อส่วนเกินได้ เพราะผิดกฏหมาย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ห่วงขยะติดเชื้อโควิดพุ่ง! หลังเริ่มใช้ชุดตรวจ-กักตัว Home Isolation

คาดการณ์ขยะติดเชื้อจาก รพ.สนาม 1.82 กก.ต่อเตียงต่อวัน 

ขยะหน้ากากอนามัย ส่อแววพุ่งคนแห่ใช้-ทิ้งปะปนขยะบ้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง