ฉลุย! สภาฯ ผ่านร่างกฎหมายทรมาน วาระแรก

การเมือง
16 ก.ย. 64
14:45
1,820
Logo Thai PBS
ฉลุย! สภาฯ ผ่านร่างกฎหมายทรมาน วาระแรก
ที่ประชุมสภา ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... วาระแรก พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน

วันนี้ (16 ก.ย. 2564) ที่ประชุมสภา ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... วาระแรก ด้วยคะแนน 368 งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

โดยรับหลักการทั้ง 4 ฉบับที่มีการเสนอ คือ 1.ร่างของคณะรัฐมนตรี 2.ร่างของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ 3.ร่างของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และ 4.ร่างของนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน โดยรายชื่อที่น่าสนใจ อาทิ นพ. ทศพร เสรีรักษ์ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นายเอกชัย ไชยนุวัติ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเสนอ นายสมชาย หอมละออ โดยพรรคประชาธิปัตย์เสนอ และนางอังคณา นีละไพจิตร โดยพรรคเสรีรวมไทยเป็นผู้เสนอ

โดยกำหนดเวลาแปรญัตติ 7 วัน โดยยึดร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลักในการพิจารณา
สำหรับหลักการและเหตุผลของกฎหมายที่เสนอเพื่อให้ การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการละมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศ กำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม และมาตรการเยียวยา ผู้ได้รับความเสียหาย

ใจความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ อยู่ในมาตรา 5 ระบุไว้ชัดว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐทำให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อ ให้มีการรับสารภาพ หรือให้ได้ข้อมูล หรือเพื่อข่มขู่ รวมถึงการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน

โดยมีโทษสูงสุดจำคุก 25 ปี ปรับ 500,000 บาท หากถึงขั้นเสียชีวิต โทษสูงสุดจำคุก 30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 1,000,000 บาท

เช่นเดียวกับกรณีบังคับสูญหายในมาตรา 6 ระบุว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐ มีการจับ,ขัง, ลักพาตัว โดยปกปิดชะตากรรม ปกปิดสถานที่ ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษก็จะหนักเท่ากัน คือ จำคุก 25 ปี ปรับ 500,000 บาท หากถึงขั้นเสียชีวิต โทษสูงสุดจำคุก 30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 1,000,000 บาท

ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังเอาผิดครอบคลุมไปถึงผู้สมคบคิดอยู่ในเหตุการณ์ ผู้สนับสนุน ต้องรับโทษเท่ากับคนก่อเหตุด้วย และหากผู้บังคับบัญชารู้เห็นและไม่ระงับการกระทำ ต้องรับโทษครึ่งหนึ่งของผู้ทำผิด นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆร่วมเป็นกรรมการ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และที่สำคัญ คือการกำหนดให้คดีทรมานบังคับสูญหาย นี้ เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ หมายความว่า ให้เป็นหน้าที่ ของ DSI ในการทำคดี

อย่างไรก็ตาม การมีกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ประเทศไทย มีกระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องกับหลักการสากลมากขึ้น เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานไว้ตั้งแต่ปี 2555

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง