ผลวิจัยสหรัฐฯ ชี้บางคนอาจมีภูมิพิเศษสู้โควิด

ต่างประเทศ
16 ก.ย. 64
19:27
938
Logo Thai PBS
ผลวิจัยสหรัฐฯ ชี้บางคนอาจมีภูมิพิเศษสู้โควิด
ผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่าผู้ที่หายป่วยจาก COVID-19 และได้รับวัคซีนประเภท mRNA จะมีภูมิต้านทานในระดับที่สูงมาก และอาจช่วยรับมือกับโรคระบาดที่เกิดจากไวรัสในกลุ่มใกล้เคียงกันได้ในอนาคต

วันนี้ (16 ก.ย.2564) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยรอกกีเฟลเลอร์ในรัฐนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้ที่ติดเชื้อแล้วหายป่วยและได้รับวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา จะสร้างภูมิต้านทานในระดับที่สูงมากกว่าภูมิต้านทานจากการติดเชื้อ หรือที่ได้รับจากวัคซีนอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกภูมิต้านทานพิเศษดังกล่าวว่า ไฮบริด อิมมูนิตี หรือภูมิต้านทานแบบไฮบริด

โดยภูมิต้านทานจะช่วยปกป้องจากเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันได้ รวมทั้งยังอาจช่วยปกป้องจากโรคระบาดที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มใกล้เคียงกันในอนาคตด้วย


ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาว่าการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 จะทำหน้าที่เสมือนการเลียนแบบเพื่อสร้างภูมิต้านทานพิเศษนี้ได้หรือไม่ และเตือนด้วยว่าผู้ที่มีภูมิต้านทานนี้ไม่ควรชะล่าใจ และคิดว่าปลอดภัยจาก COVID-19 แล้ว

โมเดอร์นาคาดประสิทธิภาพวัคซีนลดทำติดเชื้อเพิ่ม

ส่วนโมเดอร์นาเปิดเผยข้อมูลใหม่ชี้ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงเมื่อเวลาผ่านไป พร้อมทั้งประเมินว่า การเสื่อมประสิทธิภาพของวัคซีนจะส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 600,000 คน ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า


โมเดอร์นาหวังใช้ข้อมูลผลการศึกษานี้เพื่อสนับสนุนการยื่นขออนุมัติฉีดวัคซีนโดสที่ 3 ต่อสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หรือเอฟดีเอ เนื่องจากเชื่อว่า วัคซีนโดสที่ 3 จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อและขยายการปกป้อง COVID-19 ให้ครอบคลุมไปจนถึงปีหน้า

เอฟดีเอ ชี้อาจไม่จำเป็นต้องฉีดไฟเซอร์กระตุ้นภูมิ

ขณะที่ความคืบหน้าของการยื่นขออนุมัติวัคซีนโดสที่ 3 ของไฟเซอร์ เจ้าหน้าที่เอฟดีเอ ระบุว่า อาจยังไม่จำเป็น เนื่องจากผลการศึกษาของคณะที่ปรึกษาจากภายนอก ชี้ว่า ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ลดลง รวมทั้งวัคซีนยังคงช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้


ข้อมูลดังกล่าวขัดแย้งกับเอกสารของไฟเซอร์ที่ยื่นให้เอฟดีเอก่อนหน้านี้ ซึ่งระบุว่า สหรัฐอเมริกาควรอนุมัติการใช้งานวัคซีนเข็มกระตุ้น 6 เดือน หลังรับโดสที่ 2 เนื่องจากประสิทธิภาพวัคซีนลดลงร้อยละ 6 ทุก ๆ 2 เดือน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง