ก้าวแรกในสภา กฎหมายปฏิรูปการศึกษา

สังคม
19 ก.ย. 64
09:28
924
Logo Thai PBS
ก้าวแรกในสภา กฎหมายปฏิรูปการศึกษา
กว่า 2 ปี การเดินทางของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กฎหมายในหมวดปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่แม้จะได้เข้าสู่การพิจารณาเป็นวาระแรกในวันสุดท้ายของการประชุมรัฐสภา แต่ก็ถูกเลื่อนการลงมติออกไป

วันนี้ (19 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจจะเรียกได้ว่า ผิดความคาดหมาย หลังที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ก.ย.2564 ยังไม่ลงมติในวาระหนึ่งต่อ “ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...” ซึ่งแม้เหตุผลของการเลื่อนลงมติที่ปรากฏออกมาอย่างเป็นทางการ จะเป็นเพราะเมื่อถึงเวลาลงมติเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. มีสมาชิกรัฐสภาเหลืออยู่เพียง 365 คน ซึ่งไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด 730 คน นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา จึงไม่ได้ให้ลงมติ และเลื่อนไปเป็นสมัยประชุมรัฐสภาครั้งถัดไปในวันที่ 1 พ.ย.2564

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความกังขาให้กับผู้ที่ติดตามดูการอภิปราย เพราะตลอดเวลากว่า 10 ชั่วโมงของการประชุม มีทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.ยกมือขออภิปรายร่างกฎหมายนี้มากถึง 68 คน ด้วยเนื้อหาการอภิปรายที่มีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง และมีหลายคนที่บอกชัดว่าจะรอไปแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ

แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ถือเป็นหนึ่งในกฎหมายปฏิรูปประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องล่าช้าไปอีก ท่ามกลางเสียงเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษาที่ดังมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยิ่งเปิดแผลปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่ป่วยเรื้อรังมานานหลายสิบปี

2 ปี ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ยังเดินไม่ถึงฝั่ง

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) โดย นพ.จรัส สุวรรณเวลา ในฐานะประธานคณะกรรมการ ได้ตีโจทย์เรื่องการปฏิรูปการศึกษาไทยว่า มีปัญหา 4 ด้าน คือ คุณภาพของการศึกษาต่ำ ระบบการศึกษาเป็นอุปสรรคต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การใช้ทรัพยากรทางการศึกษาไม่มีประสิทธิภาพ และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูง

โดยก่อนหมดวาระการทำงานเมื่อปี พ.ศ.2562 กอปศ.ได้เสนอ 7 แนวทาง เพื่อแก้ 4 โจทย์ปัญหาข้างต้นไว้ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา หนึ่งในนั้นคือการออกแบบระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศใหม่ ผ่านการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ แทนฉบับเดิมที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 และให้มีกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในด้านการปฏิรูปการศึกษา

แต่ผ่านมา 2 ปี มีเพียงกฎหมายลูก 3 ฉบับเท่านั้นที่ประกาศใช้แล้ว ได้แก่ พระราชบัญญัติกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561, พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่ กลับยังไม่สามารถผ่านแม้กระทั่งวาระหนึ่งของรัฐสภา

 

การที่มีเฉพาะกฎหมายลูก 3 ฉบับเท่านั้นที่ประกาศใช้แล้ว ไม่ได้หมายความว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แต่จริงๆ แล้วเคยมียกร่างมาแล้ว 3 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นของ กอปศ.ยกร่างเสร็จตั้งแต่ปี 2561 และได้ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี พ.ศ.2562

แต่เพราะร่างของ กอปศ.เสนอเนื้อหาที่เรียกได้ว่าแทบจะรื้อโครงสร้างการศึกษาแบบเดิมที่เห็นว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาการศึกษาที่ผ่านมา จึงทำให้ร่างของ กอปศ.ถูกคัดค้านจาก “ครูสายบริหาร” และต่อมาปี พ.ศ.2563 ก็ปรากฏร่างอีก 2 ฉบับ คือร่างของคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และร่างของสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) หรือเรียกกันว่า ร่างครู ขึ้นมาประกบคู่ไปกับร่างของ กอปศ. โดยมีหลายประเด็นสำคัญที่แตกต่างกัน

เปิดเนื้อหาร่างฉบับล่าสุด ข้อถกเถียงที่ยังไม่มีมติ

ส่วนร่างฉบับล่าสุดที่เพิ่งพิจารณานี้นับเป็นร่างฉบับที่ 4 เสนอโดยคณะรัฐมนตรี มีทั้งหมด 110 มาตรา ซึ่งมีหลายประเด็นที่ยังคงตามร่างของ กอปศ. เช่น การปรับโครงสร้างในการบริหารจัดการการศึกษาที่เน้นการพัฒนาผู้เรียนใน 3 ระบบ คือ การศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับ การศึกษาเพื่อพัฒนาตนเอง และการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นอกจากนี้ ยังให้มีการจัดตั้ง "สถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้" เพื่อปรับหลักสูตร และวิธีการเรียนรู้ไปสู่ "ฐานสมรรถนะ" ขณะที่กลไกในการขับเคลื่อนการศึกษาร่างนี้ก็กำหนดให้มี "คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ" เป็นกลไกระดับชาติ และมีกลไกระดับจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบสมัชชา สภา หรือกลุ่ม และอีกประเด็นที่สำคัญคือ การผลักดันให้ "สถานศึกษา" มีอิสระในการบริหารจัดการการศึกษา กำลังคน และทรัพยากร เพื่อให้สถานศึกษาสามารถปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงได้

อย่างไรก็ตาม หากจับสัญญาณจากการอภิปรายล่าสุดที่ยังมีหลายข้อถกเถียงร้อนแรง ทั้งเรื่องการเพิ่มสัดส่วนของ "คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ" การยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดโครงสร้างการศึกษา การยุบ และควบรวมบางหน่วยงาน หรือสิทธิผลประโยชน์ต่างตอบแทนของครูและบุคลากรทางการศึกษา

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อถกเถียงในเรื่องการไม่เห็นกลไกปกป้องการใช้ความรุนแรงและกลไกคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียนในร่างกฎหมาย ทั้งที่เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มนักเรียนตลอดช่วงปีที่ผ่านมา รวมถึงการใช้บางถ้อยคำที่สะท้อน “ค่านิยม” ของผู้ใหญ่และสั่งให้เด็กต้องปฏิบัติตาม

จากข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ทำให้อาจต้องจับตาว่า ในวันที่ 1 พ.ย.2564 ที่จะเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งต่อไปนั้น ร่างกฎหมายปฏิรูปการศึกษาฉบับนี้ จะสามารถก้าวผ่านวาระที่ 1 และเดินต่อไปจนถึงปลายทางการปฏิรูปการศึกษาได้หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง