กอนช.เตือน 29 ก.ย.-2 ต.ค.นี้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเสี่ยงน้ำเพิ่ม 1 เมตร

ภัยพิบัติ
22 ก.ย. 64
19:15
593
Logo Thai PBS
กอนช.เตือน 29 ก.ย.-2 ต.ค.นี้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเสี่ยงน้ำเพิ่ม 1 เมตร
กอนช.ออกประกาศเตือนพื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เตรียมรับมวลน้ำสูงขึ้นอีก 1 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.ท่าดิน แดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ช่วงวันที่ 29 ก.ย.-2 ต.ค.นี้ "ประวิตร" ลงพื้นที่กรุงเก่า-เตรียมทุ่งรับน้ำ

วันนี้ (22 ก.ย.2564) นายสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการการคาดการณ์สภาพอากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 20–24 ก.ย.นี้ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นทำให้ประเทศไทย มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 25–26 ก.ย.ที่ผ่านมา หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้มีแน้วโน้มเคลื่อนเข้าปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางและจะเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

29 ก.ย.-2 ต.ค.นี้รับมือน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยา

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินปริมาณฝนที่ตกสะสมในพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงดังกล่าวนั้นจะส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุด บริเวณสถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ และปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 29 ก.ย.นี้

จะส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายเขื่อน บริเวณต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.ท่าดิน แดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1 เมตร ในช่วงวันที่ 29 ก.ย.-2 ต.ค.นี้ 

นายสำเริง กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่จุดเสี่ยง และพื้นที่ที่ยังคงสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่ แจ้งเตือนจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา

พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูล และแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งผู้ประกอบกิจการ ในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล

นอกจากนี้ให้ปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก 

อ่านข่าวเพิ่ม น้ำเหนือมาแล้ว! ปรับแผนระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา

"ประวิตร" ลงพื้นที่กรุงเก่า-ทุ่งรับน้ำหลากหลัง 15 ต.ค.

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.กอนช. ลงพื้นที่ติดตามความพร้อมของการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยกรมชลประทานรายงานว่า ขณะนี้เพิ่มอัตราการระบายของเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 1,481 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนบริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อยที่ ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา 602 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบช่วงฤดูน้ำหลาก

 

กอนช.ให้กรมชลประทานเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังยังจุดเสี่ยงล่วงหน้า ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว

สำหรับความพร้อมของพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับรับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดในพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นด่านหน้าก่อนมวลน้ำจะไหลเข้าสู่กทม. และปริมณฑล ดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงรับน้ำหลากและเตรียมแผนเผชิญเหตุให้พร้อม และให้จังหวัดร่วมบูรณาการกับกรมชลประทานพิจารณาความเหมาะการรับน้ำหลากเข้าทุ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 10 แห่ง

กำหนดรับน้ำหลากเข้าทุ่งหลังวันที่ 15 ต.ค.นี้ คือ ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท–ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งโครงการฯ โพธิ์พระยา

รวมทั้งให้ปรับลดการระบายน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำกรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนหลักของการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2566 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"หล่มสัก" น้ำลด -เจ้าพระยาตอนล่างรับมือน้ำล้นตลิ่ง 13-16 ก.ย.

 

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง