แปลงโฉม "ปางช้าง" เป็น "คาเฟ่" สู้วิกฤตหนี้ 35 ล้านในยุคโควิด

เศรษฐกิจ
23 ก.ย. 64
15:18
1,901
Logo Thai PBS
แปลงโฉม "ปางช้าง" เป็น "คาเฟ่" สู้วิกฤตหนี้ 35 ล้านในยุคโควิด

การแสดงมากฝีมือ รวมกับความสวยที่การันตีด้วยตำแหน่ง รองมิสอัลคาซ่าร์ ปี 2548 และหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการไทยแลนด์ก็อดทาเลนท์ ซีซั่น 2 คือภาพจำและเป็นจุดเริ่มต้นให้ใครหลายคนได้รู้จัก "ลูกปัด" ปุริมปรัชญ์ ไชยะคำ ในอดีต

ในวันนี้ "ลูกปัด" วัย 36 ปี รวบรวมกำลังและประสบการณ์จากทุกเวที นำความรู้ด้านการบริหารธุรกิจหลังเรียนจบจากออสเตรเลีย และในฐานะศิษย์เก่า International Business มหาวิทยาลัยรังสิต มากอบกู้วิกฤต "หมู่บ้านช้างพัทยา" ธุรกิจของครอบครัว เพื่อพยุงชีวิตทั้งคนและช้าง หลังต้องเป็นหนี้กว่า 35 ล้านบาทในยุค COVID-19


ไทยพีบีเอสออนไลน์เดินทางไปถึงหมู่บ้านช้างพัทยา ระหว่างการเก็บประเด็นข่าวเตรียมเปิดท่องเที่ยว 1 ต.ค.ซึ่งเป็นเหมือนแสงสว่างของธุรกิจหลายอย่างในเมืองแห่งนี้ แต่เมื่อมองกลับไปยังเส้นทางวิบากยุค COVID-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา "ลูกปัด" เอ่ยปากตั้งแต่เริ่มทักทายกันว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสู้และอยู่มาถึงวันนี้เพื่อรอความหวังเปิดประเทศในอนาคต

หมู่บ้านช้างพัทยา สถานที่รองรับ "ช้างตกงาน"

"ลูกปัด" เล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจครอบครัว กับความตั้งใจของคุณพ่อที่อยากทำปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว โดยใช้ช้างตกงานที่ถูกแทนที่ด้วยเครื่องยนต์ลากซุง นำมาสู่การเปิด "หมู่บ้านช้างพัทยา"

การแสดงช้างเชิงธรรมชาติ ทั้งโชว์ลากซุง ดักช้าง บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของช้างป่าและช้างบ้าน รวมถึงช้างศึกในการทำยุทธหัตถี และเรื่องราวการอยู่ร่วมกันระหว่างช้างกับควาญด้วยค่าเข้าชม 150-200 บาท กลายเป็นจุดที่สร้างรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงช้างที่ต้องกินอาหารวันละ 200 กิโลกรัม น้ำ 100 ลิตร ต่อช้าง 1 เชือก


หลังได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ชาวอเมริกัน และข้อมูลที่ศึกษามาต่อเนื่องจนมั่นใจว่า ช้างรับน้ำหนักได้ประมาณ 500 กิโลกรัม หรือเศษ 1 ส่วน 10 ของน้ำหนักตัวช้าง กิจกรรมนั่งช้างชมธรรมชาติจึงเริ่มขึ้น และเพิ่มรายได้ให้ทั้งช้างและควาญได้พออิ่มท้อง

เราไม่รับทัวร์เพราะกลัวช้างต้องเดินวนวันละหลายสิบรอบ แต่เรารับนักท่องเที่ยวที่รักช้าง อยากมาเรียนรู้ นั่งไปกับช้าง ฟังคำอธิบายคนอยู่กับช้างไปตามเส้นทางในสถานที่ซึ่งกว้าง 100 ไร่ มีพื้นที่เป็นน้ำและดิน และเลี่ยงถนนมากที่สุด 
ภาพ : Purimprud Lukpad Chaiyakham

ภาพ : Purimprud Lukpad Chaiyakham

ภาพ : Purimprud Lukpad Chaiyakham


"ลูกปัด" 
เล่าความทรงจำในวัยเด็กที่เป็นจุดเริ่มต้นความผูกพันระหว่างเธอกับช้างว่า เราโตมากับช้าง เป็นควาญช้างเองตั้งแต่เด็ก เลี้ยงช้างมาด้วยกันกับคุณพ่อ ไม่มีทางที่จะปล่อยให้ช้างต้องลำบาก เมื่อวันที่โรคระบาดเริ่มเข้ามานักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปจนเป็น 0 รายได้ก็หายไปอย่างไม่ต้องสงสัย การปรับตัวครั้งใหญ่จึงเริ่มขึ้น

ก่อนหน้านี้ปัดทำงานอยู่ในวงการบันเทิง พอพ่อบอกให้กลับมาช่วยที่บ้าน ปัดก็ไม่ปฏิเสธและมาช่วยทันที แต่การสานต่อธุรกิจคนละเจนเนอร์เรชันก็เริ่มเกิดปัญหา

ไลฟ์ขายกล้วย-คาบาเรต์ออนไลน์ หาเงินเลี้ยงช้าง

"เรามีช้างเกือบ 20 เชือก ถ้าไม่มีเงินประมาณ 50,000 บาท เลิกคิดดูแลช้างได้เลย" ตั้งแต่ COVID-19 ระลอกแรก หมู่บ้านช้างพัทยาก็ย่ำแย่ แต่ "ลูกปัด" ก็ยังกัดฟันสู้ โดยเริ่มต้นไลฟ์ขายกล้วยออนไลน์ทางเฟซบุ๊ก หาเงินให้ช้างได้กิน แต่ไลฟ์ทุกวันเงินก็ยังไม่พอ จึงได้ชวนทีมงานทำคาบาเรต์ออนไลน์ยอดคนดูสูงสุดเคยได้ถึง 3,000 คน

เราทำคาบาเรต์ออนไลน์ คนดูก็ชอบ ขอเพลงแล้วก็โอนเงินมาให้ เราก็บอกว่าเราจะเอาเงินไปซื้ออาหารให้ช้างทั้งหมด เคยมีวันหนึ่งคนดู 3,000 คน บางวันมีคนโอนเงินเข้ามา 10,000 บาท เราดีใจมาก กอดกันน้ำตาไหล 
ภาพ : Purimprud Lukpad Chaiyakham

ภาพ : Purimprud Lukpad Chaiyakham

ภาพ : Purimprud Lukpad Chaiyakham

เปลี่ยนปางช้างเป็นคาเฟ่ ทยอยจ่ายหนี้ 35 ล้าน

แม้ไลฟ์ผ่านกล้องแล้วเงินผ่านเข้าบัญชีกลายเป็นสัญญาณดีในเชิงธุรกิจ แต่ "หมู่บ้านช้างพัทยา" ก็เผชิญอุปสรรคอีกครั้ง เมื่อถูกเฟซบุ๊กปิดกั้น ส่งผลให้การเข้าถึงน้อยลง คุณพ่อของลูกปัด จึงตัดสินใจเอาที่ไปขายฝากได้เงินมา 35 ล้านบาท เพื่อมาพยุงชีวิตทั้งช้างและควาญ อยู่ได้ระยะหนึ่งก็เริ่มสะเทือนเพราะเงินเริ่มหร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ

"ลูกปัด" ยื่นข้อเสนอจากสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบอย่างการเที่ยวคาเฟ่ จนเกิดเป็น "มองช้างคาเฟ่" ขึ้นมา ผ่านการจัดหาเฟอร์นิเจอร์ ออกแบบร้าน วางแผนการแสดง โดยใช้พื้นที่จุดผูกช้างมาเป็นคาเฟ่ ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่และแองน้ำสำหรับให้ช้างมาอาบน้ำได้ตามธรรมชาติ แม้จะมีคำถามมากมายจากคุณพ่อว่า จะหาคนที่ไหนมาดูช้าง กาแฟจะคิดแก้วเท่าไหร่ จะเอาเงินที่ไหนมาให้ช้าง แต่ลูกปัดก็ยังเดินหน้าทำตามฝันของตัวเองต่อไป

เราไปยืนอยู่ริมน้ำมันสวย ถ้ากินกาแฟแล้วมองช้างลงน้ำจะต้องเป็นภาพที่สวยมากแน่ ๆ ถึงขายได้วันละ 2,000-3,000 บาท ก็ยังดีกว่าเราตื่นขึ้นมาแล้วไม่ทำอะไร
ภาพ : Purimprud Lukpad Chaiyakham

ภาพ : Purimprud Lukpad Chaiyakham

ภาพ : Purimprud Lukpad Chaiyakham


เตียงผ้าปูสีขาว เตียงหวาย รังนกบาหลี และตาข่ายยักษ์ ถูกนำมาตกแต่งเป็นแลนมาร์กถ่ายรูปกว่า 50 จุดในมองช้างคาเฟ่ ท่ามกลางต้นไม้นานาชนิดจน "ลูกปัด" เองยังอดใจไม่ไหวที่จะถ่ายรูปอัปขึ้นเฟซบุ๊ก และผลตอบรับก็ดีเกินคาด เมื่อมีคนเข้ามาสอบถามจำนวนมากว่าที่ไหน และมีอินฟลูเอ็นเซอร์ติดต่อเข้ามาเป็นสิบเจ้าเพื่อใช้บริการตั้งแต่ยังไม่เปิดร้าน

ในชีวิตปัดไม่เคยรู้จักคำว่าปังเลยในบ้านเรา แต่วันนั้นคนมามหาศาลมาก ไม่มีแม้กระทั่งที่จอดรถ

รอยยิ้มของพ่อแม่คือความสำเร็จของผู้หญิงข้ามเพศคนนี้

"ลูกปัด" พูดด้วยรอยยิ้มว่า วันนั้นคิดถึงคุณพ่อว่า พ่อเห็นความสามารถของลูกคนนี้ไหม เพราะลูกปัดเกิดมาต้องยอมรับว่า "ปัดเป็นผู้หญิงข้ามเพศ" ทำให้ต้องสู้มาตลอด พ่อก็ไม่เคยเห็นด้วยกับการเลือกชีวิตแบบนี้ แม้จะเคยบอกพ่อว่า "เราไม่เคยเลือกชีวิตแบบนี้ มันเป็นไปเองตามธรรมชาติ พ่อก็ไม่ได้เข้าใจ" 

ภาพ : Purimprud Lukpad Chaiyakham

ภาพ : Purimprud Lukpad Chaiyakham

ภาพ : Purimprud Lukpad Chaiyakham


วันนี้ "ลูกปัด" เชื่อว่า ความเป็นตัวเองทั้งหมดได้ถูกถ่ายทอดไปในมองช้างคาเฟ่ มีทั้งคาบาเรต์โชว์ที่ถูกดัดแปลงแสดงร่วมกับช้างในชื่อว่า "แฟนตาซีโชว์" โดยแสดงกลางแจ้งไม่เก็บค่าใช้จ่าย พร้อมกับใส่อินเนอร์ความเป็นคนวัย 30 ปีที่เสพติดคาเฟ่เข้าไป ให้นักท่องเที่ยวได้จิบกาแฟดูช้างอาบน้ำจนติดใจและกลับมาเที่ยวอีกครั้ง

ตอนนี้ปัดเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ เป็นผู้หญิงข้ามเพศ เป็นคนรักช้าง ปัดดีใจมากที่วันนี้พ่อกับแม่ยิ้มได้ ปัดอาจจะไม่เก่งที่สุด แต่หลายคนน่าจะได้เห็นความพยายามของปัดบ้าง เพราะปัดทำดีที่สุดแล้ว

 

ปรับตัวสู้กับโควิด รอวันเปิดท่องเที่ยวรับต่างชาติ

แม้ธุรกิจจะขายดีจนรับลูกค้าแทบไม่ทันแต่ COVID-19 ระลอกใหม่ก็ยังกระทบการค้าขายต่อเนื่อง เมื่อมีมาตรการไม่ให้นั่งในร้าน มองช้างคาเฟ่ก็ปรับเป็น Take away ไปจนถึงบริการเดลิเวอรี หลังผ่อนคลายให้นั่งในร้านได้นักท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง แต่ยังมีช่วงเวลาเคอร์ฟิวมาเป็นข้อจำกัดทำให้รายได้ขณะนี้ยังถือว่ากำไรน้อยหรือแทบไม่ได้กำไร แต่ยังดีที่ไม่ขาดทุน

ภาพ : มองช้างคาเฟ่

ภาพ : มองช้างคาเฟ่

ภาพ : มองช้างคาเฟ่

 


ในเร็ว ๆ นี้หากเปิดท่องเที่ยวรับต่างชาติได้จริง ก็จะเป็นเหมือนแสงสว่างให้ธุรกิจได้เดินต่อไปได้ และ "ลูกปัด" ก็ย้ำว่าพร้อมสู้เสมอ ไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคใด ๆ วันนี้เราอาจมีหนี้เป็นหลายสิบล้านในยุค COVID-19 แต่เราก็ค่อย ๆ หาวิธีใช้หนี้ไปเรื่อย ๆ เพื่อช่วยช้างและชาวหมู่บ้านช้างพัทยาให้อยู่ต่อไปได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง