เปิดเนื้อหาร่าง พ.ร.ก.ควบคุมโรคติดต่อฉบับใหม่

สังคม
23 ก.ย. 64
18:06
372
Logo Thai PBS
เปิดเนื้อหาร่าง พ.ร.ก.ควบคุมโรคติดต่อฉบับใหม่
โครงสร้างของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ ยังคงให้อำนาจนายกฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้ แต่กลไกใหม่นี้อาจจะไม่ทันบังคับใช้ช่วงสิ้นเดือน ทำให้ ศบค.ชุดเล็กเตรียมขอขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่ออีก 2 เดือน

มีความเห็นจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงการออกร่าง พ.ร.ก.ควบคุมโรคติดต่อ โดยย้ำว่า เป็นฉบับปรับปรุงแก้ไขจาก พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 พร้อมเพิ่มหมวดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และปรับเปลี่ยนรูปแบบเฉพาะกิจ จาก ศบค.เป็นการดำเนินงานปกติโดยรัฐบาล

 

มีรายงานว่า ร่าง พ.ร.ก.ควบคุมโรคติดต่อ ที่ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์แพร่ระบาด และคาดว่าจะไม่ทันการบังคับใช้หลังสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ศบค.ชุดเล็ก จึงเห็นชอบให้ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 2 เดือน และจะเสนอให้ ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 27 ก.ย.

 

สำหรับสาระสำคัญในเนื้อหาร่าง พ.ร.ก.ควบคุมโรคติดต่อ คือการปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จากเดิมหากประเทศอยู่ในสภาวะโรคระบาดปกติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะนั่งเป็นประธาน แต่หากสถานการณ์อยู่ในสภาวะที่เป็นโรคระบาดร้ายแรง อำนาจจะเปลี่ยนมือไปที่นายกรัฐมนตรี ในการควบคุม-สั่งการ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ไม่เกิน 3 เดือนต่อครั้ง

 

โดยมีรองนายกฯ 2 คน ทำหน้าที่เป็นรองประธาน ส่วนรัฐมนตรีมหาดไทย-รัฐมนตรีสาธารณสุข รวมถึงปลัดกระทรวง ผู้เชี่ยวชาญ จะนั่งเป็นคณะกรรมการ ขณะเดียวกันยังให้อำนาจประธานคณะกรรมการฯ ในการจัดตั้งคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจต่าง ๆ ขึ้นมาร่วมกันขับเคลื่อนเป็นครั้งคราวด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ยังมีอำนาจในการกำหนดระเบียบการเข้า-ออก ภายในประเทศ แต่ถ้าหากการเดินทางระหว่างประเทศ จะให้กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบ

 

ส่วนการจัดทำแผนเยียวยา-จัดหาวัคซีน หรือการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือการประกาศล็อกดาวน์เมื่อมีเหตุจำเป็นก็ให้อำนาจคณะกรรมการชุดนี้ขับเคลื่อน แต่ขั้นตอนก็ต้องผ่าน ครม.ด้วย

พร้อมกันนี้จะโอนภารกิจของ ศบค.มาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ควบคุมโรคติดต่อ หรือตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมารองรับภารกิจ หรืออาจปรับโครงสร้างของ ศบค. เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคตเท่านั้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือของ ศบค.กับกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ตามขั้นตอนรัฐบาลต้องนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ก่อนออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลในทางปฏิบัติ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง