วิกฤตผู้อพยพเฮติสะท้อนสหรัฐฯ ไร้มนุษยธรรม?

ต่างประเทศ
24 ก.ย. 64
19:38
528
Logo Thai PBS
วิกฤตผู้อพยพเฮติสะท้อนสหรัฐฯ ไร้มนุษยธรรม?
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพของตำรวจตระเวนชายแดนสหรัฐฯ ใช้สายบังเหียนยาวทำร้ายร่างกายผู้อพยพชาวเฮติ กลายเป็นภาพที่ทำให้รัฐบาลของโจ ไบเดน กำลังถูกตั้งคำถามถึงการปฏิบัติต่อผู้อพยพอย่างไร้มนุษยธรรม กลายเป็นอีกวิกฤตที่กำลังรุมเร้ารัฐบาลสหรัฐฯ

ภาพของตำรวจตระเวนชายแดนสหรัฐฯ ใช้สายบังเหียนยาว ทำร้ายร่างกายผู้อพยพชาวเฮติ เหตุการณ์นี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ด้านการเมืองและมนุษยธรรม หลังจาก โจ ไบเดน เคยให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติต่อกลุ่มผู้อพยพอย่างมีมนุษยธรรม ต่างจากสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์

คลื่นผู้อพยพจากเฮติ ทำให้สหรัฐฯ ถูกวิจารณ์อย่างหนัก หลังจากภาพนี้ถูกเผยแพร่ในวงกว้าง โดยตำรวจตระเวนชายแดนบนหลังม้า ใช้บังเหียนทำร้ายร่างกายผู้อพยพให้ล่าถอยลงไปในแม่น้ำรีโอ แกรนด์ ตามปกติแล้วการขี่ม้าลาดตระเวนชายแดนเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากวิธีนี้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศในบริเวณนั้น

 

เหตุชุลมุนวุ่นวาย เริ่มต้นจากผู้อพยพชาวเฮติมากกว่า 13,000 คน ปักหลักอยู่ใต้สะพานในเมืองเดล รีโอ ผู้อพยพบางส่วนข้ามแดนเข้าไปฝั่งเม็กซิโกเพื่อซื้ออาหารให้ครอบครัว เนื่องจากฝั่งสหรัฐฯ ไม่มีอาหารเพียงพอ แต่เมื่อผู้อพยพกลุ่มนี้ จะข้ามกลับเข้าไปในฝั่งสหรัฐฯ จึงถูกตำรวจตระเวนชายแดนสกัดเอาไว้

ภาพการควบม้าขับไล่ผู้อพยพ ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อคนผิวดำในประวัติศาสตร์อเมริกัน หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ เร่งแก้ปัญหาการใช้กำลังกดขี่ข่มเหงเป็นอันดับแรก

ภาพถ่ายเพียงภาพเดียว ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก จนทำเนียบขาวต้องขยับตัวเพื่อลดแรงเสียดทาน

 

แดเนียล ฟุต ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ประจำเฮติ ยื่นหนังสือลาออก เพื่อประท้วงรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ เนื่องจากการส่งตัวผู้อพยพไม่ต่ำกว่า 1,400 คน กลับประเทศต้นทาง ถือเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม

ในขณะที่เฮติ คงไม่สามารถสนับสนุนผู้อพยพหลายพันคนได้ หลังจากประเทศเข้าสู่ภาวะรัฐที่พังทลายแล้ว

สาเหตุของคลื่นผู้อพยพจากเฮติ เป็นผลมาจากความไร้เสถียรภาพภายในประเทศ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหตุลอบสังหาร ประธานาธิบดีโจเวเนล โมอีส และเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี


ผู้อพยพส่วนใหญ่บริเวณพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก เป็นผู้อพยพจากเฮติ หลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 7.0 เมื่อปี 2010 ผู้อพยพเหล่านี้อาศัยอยู่ในบราซิลและประเทศในแถบอเมริกาใต้สักระยะ ก่อนที่จะเดินทางขึ้นไปทางตอนเหนือ

สาเหตุหลัก ๆ ของการอพยพ มีตั้งแต่หางานทำเป็นหลักเป็นแหล่งไม่ได้ ไปจนถึงการไม่ได้รับสถานะทางกฎหมาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ผู้นำสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันรอบด้าน จากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน

ประเด็นนี้อยู่ตรงกลางระหว่างมนุษยธรรมกับความมั่นคง จึงถือเป็นโจทย์ยากอีกโจทย์หนึ่งสำหรับรัฐบาลไบเดน

 

ที่มา : AFP ,AP ,BBC ,Reuters

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง