2 โจทย์ต้องเร่งแก้ กองขยะพิษ จ.ลพบุรี

สิ่งแวดล้อม
25 ก.ย. 64
14:02
1,186
Logo Thai PBS
2 โจทย์ต้องเร่งแก้ กองขยะพิษ จ.ลพบุรี
โจทย์แรกคือ ต้องรีบเอากองขยะอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้ออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด ก่อนจะส่งผลกระทบไปมากกว่านี้ และโจทย์ที่สองคือ เร่งดำเนินคดีผู้ต่อที่ลักลอบเอาขยะมาทิ้ง ซึ่งการหาคำตอบนี้อาจต้องดูจากท่าทีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว นับตั้งแต่กองขยะอุตสาหกรรมที่ ต.ดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งล่าสุดได้รับการยืนยันจากกรมควบคุมมลพิษแล้วว่า เป็นถังบรรจุของเสียเคมีหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โดยเป็นถังเหล็กขนาด 200 ลิตร จำนวน 360 ถัง และถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร 40 ถัง รวมประมาณ 80,000 ลิตร

ส่วนสารเคมีในถัง ก็พบฉลากข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเป็นสารอันตราย มีพิษกัดกร่อนและไวไฟ และสันนิษฐานว่าเป็นของเสียจากการประกอบกิจการโรงงาน ประเภท ตัวทำละลาย สี กาว ซึ่งเข้าข่ายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535

ยังไม่มีคำตอบว่า กากอุตสาหกรรมเหล่านี้ถูกทิ้งมานานแล้วแค่ไหน แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานกว่านี้ มีความเห็นจาก สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ระบุว่าอาจจะยิ่งเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากกากอุตสาหกรรมที่กองตากแดดตากฝนจำนวนมากเหล่านี้ หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชนที่อาศัยใกล้เคียง เนื่องจากเป็นกากสารเคมีประเภทปล่อยไอระเหยสารอินทรีย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารก่อมะเร็ง

รวมทั้งช่วงนี้มีฝนตกปริมาณมาก อาจจะชะสารเคมีไหลลงปนเปื้อนแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและเป็นพิษต่อการนำมาใช้หรือดื่มกินอีกด้วย ดังนั้น จึงต้องรีบขนย้ายออกไปกำจัดและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมโดยเร็ว

ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ


ขณะที่ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงกับจุดทิ้งขยะบอกกับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสว่า ต้องตัดสินใจย้ายบ้านพักที่เป็นเพิงชั่วคราวที่อยู่ใกล้กับบ่อขยะ ไปสร้างเพิงพักแห่งใหม่อยู่ชั่วคราวใกล้ๆ กับริมถนน ห่างจากบ่อขยะประมาณ 1 กิโลเมตร เพราะไม่สามารถทนกลิ่นเหม็นได้ โดยมีถึง 4 ครอบครัวที่ตั้งใจจะย้ายเพิงพักออกมาอยู่ด้านนอกบ่อขยะ มีตั้งแต่เด็กเล็กอายุประมาณ 2 ขวบ จนถึงผู้สูงอายุ

ชาวบ้านบอกอีกด้วยว่า ก่อนหน้านี้เคยใช้น้ำจากบ่อที่อยู่ใกล้เคียงกองขยะทั้งใช้อาบ ล้างหน้า แปรงฟัน ไปจนถึงนำไปใช้ในแปลงเกษตร แต่ตอนนี้ไม่กล้าใช้แล้ว

2 โจทย์ต้องเร่งแก้ ใครต้องหาคำตอบ

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เรื่องนี้มี 2 โจทย์ที่ต้องเร่งหาคำตอบ โจทย์แรกคือ ต้องรีบเอากองขยะอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้ออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด ก่อนจะส่งผลกระทบไปมากกว่านี้ และโจทย์ที่สองคือ เร่งดำเนินคดีผู้ต่อที่ลักลอบเอาขยะมาทิ้ง ซึ่งการหาคำตอบนี้อาจต้องดูจากท่าทีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หากไล่ย้อนดูข่าวนี้ จะเห็นว่าหน่วยงานแรกที่เปิดประเด็นขึ้นมาก่อนคือ กรมควบคุมมลพิษ โดยตัวนายอรรถพล อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมฯ นำทีมลงพื้นที่ด้วยตนเองตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. หลังจากนั้นก็มียังมีการลงพื้นที่ต่อเนื่อง และล่าสุดก็เข้ายื่นหนังสือต่อ DSI ให้ช่วยเข้ามาตรวจสอบคดีนี้

ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ


ขณะที่ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม อาจเรียกว่ารับลูกต่อทันที โดยหลังอธิบดีกรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เพียงวันเดียว วันที่ 18 ก.ย. อุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี ก็เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.พัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนายสุเทพ ขวัญตา เจ้าของที่ดิน ในข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายสารปนเปื้อนเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าจากพนักงานตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

และวันที่ 20 ก.ย. นายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า พื้นที่ที่ถูกลักลอบทิ้งเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโรงงาน เพราะมีเครื่องจักรขนาดมากกว่า 50 แรงม้า คือ รถแบคโฮ 2 คัน และจะดำเนินคดีข้อหาเจ้าของที่ดินข้อหาตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยอีก 1 ข้อหา

การแจ้งข้อกล่าวหาของกรมโรงงานอุตสาหกรรมต่อเจ้าของที่ดินทั้ง 2 ข้อ ทำให้ สนธิ คชวัฒน์ ตั้งข้อสังเกตว่า เท่ากับว่าตอนนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคดีนี้ เพราะถือว่าพื้นที่เกิดเหตุอยู่ในเขตอำนาจดำเนินการของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่กรมควบคุมมลพิษจะสามารถเข้ามาดำเนินการได้เฉพาะพื้นที่นอกเขตโรงงาน เช่น พื้นที่สาธารณะ หรือกรณีที่เป็นการปนเปื้อนในลำน้ำสาธารณะ

“กรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องสืบหาผู้ที่นำกากอุตสาหกรรมมาทิ้งมาดำเนินคดี และยังต้องเป็นหน่วยงานหลักในการนำกากอุตสาหกรรมเหล่านี้ไปกำจัดอย่างถูกวิธี รวมทั้งต้องฟื้นฟูให้สิ่งแวดล้อมที่ถูกปนเปื้อนให้กลับมาเหมือนเดิม”

โดยกรณีโจทย์เร่งด่วนคือเร่งย้ายกองขยะนั้น หลังกรมโรงงานฯ แจ้งข้อกล่าวหาต่อเจ้าของที่ดินแล้ว กรมโรงงานสามารถใช้อำนาจตาม ม.37 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ออกคำสั่งให้เจ้าของที่ดินดำเนินการภายในกำหนดเวลาได้ แต่หากเจ้าของที่ดินไม่ดำเนินการ กรมโรงงานฯ สามารถใช้อำนาจตาม ม.42 ดำเนินการแทน แล้วค่อยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากเจ้าของที่ดิน

ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ


ส่วนโจทย์ที่ต้องเร่งหาคนผิดมาดำเนินคดีนั้น ก็มีความคืบหน้าว่า กรมโรงงานฯ พบข้อมูลเส้นทางขนส่งขยะถังสารเคมีจากการติดตามจีพีเอสของรถบรรทุกที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า อาจขนถังสารเคมีทั้งหมดมาจากพื้นที่ จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งตรงกับข้อมูลข้างถังสารเคมีที่พบว่ามีอักษรบ่งบอกถึงจังหวัดที่มาของถังดังกล่าว โดคาดว่าบริษัทกำจัดขยะน่าจะไปทิ้งทำลายที่ จ.เพชรบูรณ์ แต่ติดขัดปัญหาจึงนำมาทิ้งไว้บนที่ดินแห่งนี้

หลังจากนี้ ก็ต้องคอยจับตาว่า เมื่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมดึงอำนาจการดำเนินการมาไว้เองแล้ว จะสามารถจัดการปัญหาได้เบ็ดเสร็จและดำเนินการได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ เพราะหากทำงานช้าผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง