เช็ก ! 4 อ่างเก็บน้ำเสี่ยงวิกฤตปริมาณน้ำมากเกิน 100%

ภัยพิบัติ
27 ก.ย. 64
14:46
5,968
Logo Thai PBS
เช็ก ! 4 อ่างเก็บน้ำเสี่ยงวิกฤตปริมาณน้ำมากเกิน 100%
จับตาอ่างขนาดใหญ่วิกฤต ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากเกินความจุของอ่าง 100% ล่าสุดที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา มีน้ำมากถึง 151% จนน้ำล้นสปิลเวย์ ทำนบดินพัง นักวิชาการชี้ตะกอนท้องเขื่อนมาก เหตุเหนือเขื่อนป่าถูกบุกรุก แนะตรวจสอบทางเทคนิค

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 27 จังหวัดหลังเข้าฤดูฝนมาแล้วเกือบ 4 เดือนเต็ม ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงความแข็งแรงของเขื่อนในประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากเมื่อวานนี้ (26 ก.ย.) เกิดเหตุการณ์ข่าวลือว่าอ่างลำเชียงไกร (ตอนล่าง) อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา แตกและทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนเสียหาย

แม้ว่าวันนี้ผู้บริหารกรมชลประทาน จะออกมายืนยันว่า "อ่าง และสันอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร มั่นคงแข็งแรง แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มากเกินความจุอ่างถึง 151% จึงทำให้น้ำล้นสปิลเวย์"

ภาพ:กรมชลประทาน

ภาพ:กรมชลประทาน

ภาพ:กรมชลประทาน

 

ข้อมูลล่าสุดวันนี้ (27 ก.ย.2564) โครงการชลประทานนครราชสีมา รายงานว่าระดับน้ำใน อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ลดลง 30 ซม.ตั้งแต่เวลา 01:00 น. และเหลือถึงระดับสันทำนบดินอ่างลำเชียงไกร 60 ซม. หมายความว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่าง 400-500 ลบ.ม.ต่อวินาทีลดลงกว่าปริมาณน้ำที่ไหลออกจากทุกช่องทาง ทำให้ไม่เกิดล้นข้ามทำนบดินสันของอ่าง ในลักษณะพังทลาย หรือเขื่อนแตก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ยังไม่แตก! “ลำเชียงไกร” ทำนบคันดินพังน้ำเข้าอ่างมากเกิน 151%

ย้อนไปเมื่อ 29 ก.ค.2560 เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันที่ อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จ.สกลนคร หลังฝนตกหนัก ทำให้น้ำไหลเข้ามากเกิน จนแนวสันดินของอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น หายไปประมาณ 20 เมตร ลึก 4 เมตร เพราะถูกน้ำกัดเซาะจนพังเสียหาย จนน้ำภายในอ่างที่มีความจุ 2.40 ล้านลบ.ม. ไหลออกท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน ครั้งนี้กรมชลประทานต้องใช้เวลาซ่อมแซม 20 วัน

อ่านข่าวเพิ่ม สันอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น "พัง" ยาว 20 เมตร - กรมชลฯ เร่งซ่อมภายใน 20 วัน

ภาพ:กรมชลประทาน

ภาพ:กรมชลประทาน

ภาพ:กรมชลประทาน

ตะกอนใต้ท้องเขื่อน มาจากไหน?

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า กรณีลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา ยังไม่เข้าข่ายคำว่าเขื่อนแตก เพราะถ้าเขื่อนแตกในทางเทคนิคคือพังลงมาไมมีเขื่อน และน้ำทั้งก้อนจะล้มลงมาและระบายลงมาด้านล่างจากก้อนน้ำที่ลงมาจากเขื่อนแตก

สถานการณ์ลำเชียงไกรก็ไม่ดี เพราะคันล้มไปเรื่อยๆ หลังจากนี้ต้องตรวจสอบทางเทคนิคว่าทำไมน้ำถึงล้นออกมาได้ เพราะถ้าเป็นเขื่อนดินจะไม่ให้ไหลล้นข้ามคันดิน แต่จะให้ล้นข้ามสปิลเวย์ แต่ปัจจัยหนึ่งปีนี้น้ำมากจริง จนระบายเกินค่าออกแบบน้ำก็สูงทำให้การไหลไม่เป็นไปตามที่วิศวกรออกแบบ

ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ปัจจัยของอ่างเก็บน้ำ ถ้าตะกอนสะสมทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงเร็ว เพราะเป็นตะกอนที่พื้นอ่าง พอน้ำเข้ามาจากอดีต ระดับน้ำจะสูงขึ้น เพราะบวกระดับตะกอนเข้าไปด้วย แต่ทั้งหมดต้องดูข้อมูลทางเทคนิค และไม่ถูกต้องที่จะปรักปรำถึงสาเหตุ เพราะเท่าที่ทราบทางกรมชลประทาน ได้มีมาตรการจะดูแลในระดับหนึ่ง มีมาตรฐานการดูแลซอมบำรุงเขื่อน

ในหลักการเป็นงานในหน้าที่ และตัวตะกอนต้องทำงานข้ามหน่วยกับพื้นที่ด้านต้นน้ำ กระทรวงอื่นๆ ต้องทำเป็นเพราะแพคเกจเมื่อมีเขื่อน ด้านเหนือเขื่อนต้องช่วยดูแลประสานกับหน่วยงานที่ดูแลเพื่อลดตะกอน

ด้านเหนือเขื่อน มีการบุกรุกตัดป่าต้นน้ำ มีการปลูกพืชที่ไม่ได้อนุรักษ์ดิน ทำให้ตะกอนที่มีมากในท้องเขื่อนอยู่แล้วเวลามีน้ำป่าไหลหลากลงมา จะมีมากขึ้น ดังนั้นในแต่ละปีจึงมีตะกอนเพิ่มขึ้น

เช็ก 9 อ่างขนาดใหญ่น่าห่วงน้ำมาก 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลจากกรมชลประทาน รายงานข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลาง (26 ก.ย.)ภาพรวมปี 64 มีปริมาณน้ำ 48,313 ล้านลบ.ม.มากกว่าปี 63 จำนวน 8,753 ล้านลบ.ม. ซึ่งมีปริมาณน้ำ 39,560 ล้านลบ.ม.แต่ยังรับน้ำได้อีก 27,762 ล้านลบ.ม. 

หากแยกรายภาคพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำเก็บกัก 6,834 ล้านลบ.ม.เทียบกับปี 63 มีปริมาณน้ำเก็บกัก 4,887 ล้านลบ.ม. มากกว่า 1,947 ล้านลบ.ม. ยังรับน้ำได้อีก 3,533 ล้านลบ.ม.

ภาคกลาง ปริมาณน้ำเก็บกัก 1,243 ล้านลบ.ม. ส่วนปี 63 ปริมาณน้ำเก็บกัก 606 ล้านลบ.ม. มากกว่า 637 ล้านลบ.ม. รับน้ำได้อีก 545 ล้านลบ.ม.

สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

  • เขื่อนภูมิพล ปริมาณน้ำ 5,966 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 44% ความจุอ่าง รับน้ำได้อีก 7,496 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำ 4,052 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 43% ของความจุอ่าง ยังรับน้ำได้อีก 5,458 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนแควน้อย ปริมาณน้ำ 757 ล้านลบบ.ม.คิดเป็น 81% ของความจุอ่าง รับน้ำได้อีก 182 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำ 601 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 63% ของความจุอ่าง รองรับน้ำอีก 359 ล้านลบ.ม.

จับตา 9 เขื่อนปริมาณน้ำเก็บเกิน 100%

ขณะที่ข้อมูลจากกองอำนวยความมั่นคงน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พบว่าปริมาณน้ำทั้งประเทศ 50,913 ล้าน ลบ.ม. (62%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 44,655 ล้าน ลบ.ม. (62%) โดยยังต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง และเฝ้าระวังน้ำมาก จำนวน 9 แห่ง

  • อ่างแม่มอก จ.สุโขทัย ความจุอ่าง 110 ล้านลบ.ม.ปริมาณน้ำ 119 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 108%
  • อ่างจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ  ความจุอ่าง 181 ล้านลบ.ม.ปริมาณน้ำ 167 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 102%
  • อ่างลำตะคอง จ.นครราชสีมา ความจุอ่าง 445 ล้านลบ.ม.ปริมาณน้ำ 246 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 78%
  • อ่างลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา ความจุอ่าง 242 ล้านลบ.ม.ปริมาณน้ำ 143 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 92%
  • อ่างมูลบน จ.นครราชสีมา ความจุอ่าง 360 ล้านลบ.ม.ปริมาณน้ำ 127 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 90%
  • ลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ ความจุอ่าง 197 ล้านลบ.ม.ปริมาณน้ำ 95 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 79%
  • ขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ความจุอ่าง338 ล้านลบ.ม.ปริมาณน้ำ 248 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 84%
  • นฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ความจุอ่าง 110 ล้านลบ.ม.ปริมาณน้ำ 119 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 108%
  • หนองปลาไหล จ.ชลบุรี ความจุอ่าง 206 ล้านลบ.ม.ปริมาณน้ำ 166 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 101%

 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งเตือนระดับสีส้ม "อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร" น้ำเกิน 100 % สั่งเฝ้าระวัง - เตรียมพร้อมหากอพยพ 

เปิดภาพ"อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น"น้ำแห้งขอด หลังทำนบดินพัง 3 วัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง