คุณสมบัตินายกฯ กับ "เดดล็อก" การเมือง

การเมือง
27 ก.ย. 64
19:33
609
Logo Thai PBS
คุณสมบัตินายกฯ กับ "เดดล็อก" การเมือง
“สุพจน์ ไข่มุกด์” ชี้ ปม.ตีความ ม. 158 วรรคสี่ แม้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอาจยังไม่รับพิจารณา เพราะเหตุยังไม่เกิดขึ้น ส่วน “จรัญ ภักดีธนากุล” แนะ ครม.หาจังหวะเหมาะสมก่อนเลือกตั้งใหม่ ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ช่องทาง ม.210 (2)

วันนี้ ( 27 ก.ย.2564 ) นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 และเป็นอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุถึงเจตนารมณ์บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่นี้ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้ อันหมายถึงนายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากการเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ หรือตั้งแต่ในปี 2562 และเสนอชื่อโดยรัฐสภาและที่ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 มิถุนายน 2562

เชื่อว่าแม้จะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่เรื่องยังไม่เกิดขึ้น ศาลอาจจะยังไม่รับไว้พิจารณา ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้ว และเป็นไปได้ที่จะมีการยื่นตีความเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย กรณีมีข้อกฎหมายให้สงสัย พร้อมชี้แจงการกำหนดดำรงตำแหน่ง 8 ปี เพราะไม่ต้องการให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวเกินไป ทำให้เป็นต้นเหตุวิกฤตทางการเมือง

ขณะที่นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่ชัด และเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรี และ ครม. เป็นผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความเอง ตามจังหวะเวลาที่เหมาะสมก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยใช้ช่องทางตามมาตรา 210 (2) ประกอบกับมาตรา 264 มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 170 หากปล่อยไว้เนิ่นนานอาจเกิดกระแสสังคมที่ชี้กระแสไปทางใดทางหนึ่ง และจะทำให้ศาลตัดสินไม่ได้ หากตัดสินตามกระแสก็หาว่าโหนกระแส หากขวางกระแสสังคมก็จะโดนล้มคว่ำ

พร้อมยกตัวอย่าง 3 แนวทางการตีความข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ คือ

1. รัฐธรรมนูญไม่มีผลย้อนหลัง ให้ใช้นับแต่วันที่กฎหมายประกาศใช้ 6 เมษายน 2560 อันหมายถึงนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่นายกรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้า ซึ่งจะครบ 8 ปี ในวันที่ปี 2570 ทางนี้ถือเป็นคุณกับนายกฯและ ครม.ปัจจุบัน

2. รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า ให้บังคับใช้กับนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งจะหมายถึงรวมนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย โดยเฉพาะไม่มีกฎหมายห้ามรัฐธรรมนูญบังคับใช้ย้อนหลัง ต่างกับกฎหมายแพ่ง-อาญา ซึ่งหากนับ 8 ปีนับแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรียุค คสช.เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ก็จะครบในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งทางนี้อาจจะตรงใจฝ่ายค้าน แต่ยังอาจหมายถึงนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆด้วย ทั้งหมายถึงนายชวน หลีกภัย หรือนายอานันท์ ปันยารชุน ที่ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 8 ปี อาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกไม่ได้

3.เป็นทางที่นายจรัญเห็นว่าเป็นทางสายกลางที่จะนับ 8 ปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศบังคับใช้ 6 เมษายน 2560 หรือครบ 8 ปีวันที่ 5 เมษายน 2568 แต่ยอมรับว่ามีจุดอ่อนว่าจะยึดหลักอะไรในการตีความ โดยได้อ้างอิงรัฐธรรมนูญมาตรา 264 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันที่ประกาศใช้รับธรรมนูญฉบับนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติกฎหมายนี้จนกว่าจะมี ครม.ที่ตั้งใหม่ การเลือกตั้งทั่วไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง