ย้อนสถิติอุบัติเหตุเรือล่มเจ้าพระยา ลำน้ำเศรษฐกิจสำคัญอยุธยา

สังคม
30 ก.ย. 64
12:25
3,347
Logo Thai PBS
ย้อนสถิติอุบัติเหตุเรือล่มเจ้าพระยา ลำน้ำเศรษฐกิจสำคัญอยุธยา
ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดอุบัติเหตุเรือล่มบริเวณสามแยกหน้าวัดพนัญเชิงฯ หลังช่วงพ.ศ.2550-2557 เคยมีเรือล่มในพื้นที่เดียวกันมาแล้วถึง 2 ครั้ง ไทยพีบีเอสออนไลน์ย้อนรอยโศกนาฎกรรมในลำน้ำเศรษฐกิจที่แต่ละปีมีเรือสัญจรผ่านนับหมื่นเที่ยว

เหตุเรือลากจูงล่มบริเวณสามแยกหน้าวัดพนัญเชิงวรมหาวิหารเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา แม้จะผ่านมา 26 ชั่วโมงแล้ว แต่ยังไม่พบร่องรอยผู้สูญหายทั้ง 2 คน ขณะที่ล่าสุด เจ้าหน้าที่มีสัญญาณดีเมื่อตรวจพบพิกัดเรือที่ล่มได้แล้ว

8 ปี อุบัติเหตุ 13 ครั้ง ลำน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดโศกนาฏกรรมจากอุบัติเหตุทางน้ำบนเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก โดยเฉพาะใน จ.พระนครศรีอยุธยา ข้อมูลจากการศึกษาความเสี่ยงของการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ช่วง พ.ศ. 2550-2557 พบว่า ในช่วง 8 ปีมีอุบัติเหตุการคมนาคมทางน้ำในพื้นที่ 13 ครั้ง เฉลี่ย 1.63 ครั้งต่อปี

โดยมีจำนวนเรือที่เกี่ยวเนื่องกับอุบัติเหตุทั้งสิ้น 16 ลำ ในจำนวนนี้เป็นอุบัติเหตุที่เรือได้รับความเสียหายในลักษณะของเรือจม 14 ลำ มีผู้ประสบเหตุ 73 คน ประกอบด้วย ผู้บาดเจ็บ 69 คน เสียชีวิต 1 คน และสูญหาย 3 คน

อุบัติเหตุทั้งสิ้น 13 ครั้ง พบว่ามีสถานที่เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 10 แห่ง และบริเวณหน้าวัดพนัญเชิงฯ ที่เกิดอุบัติเหตุเรือล่มเมื่อวานนี้ ก็เคยพบอุบัติเหตุทางน้ำมาแล้ว 2 ครั้ง ในช่วง พ.ศ.2550-2557


ทั้งนี้ เรือที่ประสบอุบัติเหตุในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักใน จ.พระนครศรีอยุธยา 13 ครั้งนั้น ได้แก่ เรือดันหรือเรือลากจูง 6 ลำ (ร้อยละ 37.5) รองลงมาเป็นเรือลำเลียง 5 ลำ (ร้อยละ 31.25) เรือโดยสาร 1 ลำ นอกจากนั้นมีข้อมูลที่ไม่ทราบประเภทเรือจากการบันทึกอุบัติเหตุ 4 ลำ 

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของการศึกษา พบว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความบกพร่องของคน บางครั้งอาจร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และสาเหตุจากเรือหรืออุปกรณ์ชำรุด โดยความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง 

ย้อนรอยอุบัติเหตุแม่น้ำเจ้าพระยา

ไม่เพียงใน จ.พระนครศรีอยุธยาเท่านั้น เส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาเคยเกิดอุบัติเหตุทางเรือครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง

1 มิ.ย.2554 เรือบรรทุกน้ำตาลล่มจนทำให้มีน้ำตาลรั่วบริเวณวัดท่าการ้อง ขวางลำน้ำได้ทำให้น้ำเปลี่ยนเส้นทางเดินของน้ำ จนตลิ่งที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทรุดตัวพังลงยาวประมาณ 7 เมตร และทำให้มีปลาตายจำนวนมาก

18 ก.ย.2559 เหตุการณ์เรือสมบัติมงคลชัย ล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากชนกับสิ่งปลูกสร้าง บริเวณหน้าวัดสนามไชย จ.พระนครศรีอยุธยา จนทำให้มีชาวไทยมุสลิมเสียชีวิต 28 คน ถือเป็นอุบัติเหตุทางน้ำครั้งใหญ่ที่ทำให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก


28 ส.ค.2560
เรือโยงลากจูงเรือโป๊ะเหล็กพ่วงบรรทุกน้ำตาลทรายแดง 4 ลำ มาจากคลังสินค้า จ.อ่างทอง บรรทุกน้ำตาลลำละประมาณ 1,200 ตัน เพื่อมาส่งที่
บริเวณเกาะเรียน จ.พระนครศรีอยุธยา

เมื่อลากมาถึงใต้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ต.เกาะเกิด อ.บางปะอิน เรือโป๊ะพ่วงลำที่ 4 เกิดไปชนกับตอม่อสะพานจนเกิดรูรั่วบริเวณหัวเรือด้านขวา เป็นเหตุให้น้ำเข้าเรือจนจมลงแม่น้ำ

7 พ.ย.2560 เรือยนต์ลากจูงเรือบรรทุกเรือบรรทุกสินค้าล่มกลางสามแยกแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก บริเวณท่าน้ำหน้าวัดพนัญเชิงวรวิหารก่อนจมไปกลางแม่น้ำ หลังเรือจม มีเรือรับจ้างข้ามฝากบริเวรหน้าวัดช่วยเหลือไว้ได้ทันทำให้ไม่มีผู้บาดเจ็บ

2 ส.ค.2563 อุบัติเหตุเรือโดยสารและภัตตาคารล่ม ขณะให้บริการนักท่องเที่ยว 60 คน ล่องแม่น้ำเจ้าพระยารับผู้โดยสารจากโรงแรมแห่งหนึ่ง แต่ผู้ควบคุมเรือได้ให้ผู้โดยสารขึ้นฝั่งได้ทันก่อนเรือจม จึงทำให้ทุกคนปลอดภัยไม่มีผู้บาดเจ็บ

จุดแม่น้ำ 4 สาย เส้นเลือดใหญ่ขนส่งภาคกลาง

อุบัติเหตุทางน้ำใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เริ่มมากขึ้น อาจกลายเป็นคำถามถึงความหนาแน่นในการสัญจรทางน้ำในพื้นที่ ซึ่งเส้นทางน้ำสายนี้เรียกได้ว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการขนส่งภาคกลาง

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์และมีวิธีชีวิตที่สัมพันธ์กับการคมนาคมทางน้้ามายาวนาน แม่น้ำไหลผ่าน 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำน้อย รวมความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร เป็นที่นิยมในการท่องเที่ยวชมสถานทางประวัติศาสตร์ ล่องเรือภัตตาคารชิมอาหารไปตามแม่น้้า


ขณะเดียวกันเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญของภาคกลาง มีท่าเรือสินค้า โรงงานและคลังสินค้ามากกว่า 70 แห่งที่ตั้งเรียงรายอยู่ตลอดสองฝั่งของแม่น้ำทั้งสอง ทำให้มีเรือสัญจรไปมามากมาย ทั้งขบวนเรือลำเลียงทะเลขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือ ขบวนเรือขนส่งสินค้า เรือดัน-ลากจูง เรือประมง เรือภัตตาคาร เรือโดยสารขนาดเล็ก และเรือขายของ

ปริมาณการขนส่งสินค้าบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสักในปี 2562 ใช้เรือขนส่งสินค้าทั้งสิ้น 62,236 เที่ยวลำ มีสินค้าทั้งหมด 18 ประเภท ปริมาณสินค้าทั้งหมด 55.999 ล้านตัน

ต้นทางของสินค้าจากแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำป่าสัก สินค้าที่มีการขนส่งมากที่สุด คือสินค้าประเภทแร่เชื้อเพลิง รองลงมาคือแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนมากเป็นสินค้าประเภทดิน หินทราย ส่วนแม่น้ำน้อยมีการขนส่งสินค้าเพียง 2 ประเภท คือ ข้าว และดิน หิน ทราย


สำหรับสินค้าที่มีการขนส่งมากที่สุดในปี 2562 คือ สินค้าประเภทแร่เชื้อเพลิงประมาณ 14.443 ล้านตัน รองลงมา 3 อันดับ คือ สินค้าประเภท ดิน หิน ทราย ซีเมนต์ และปุ๋ยตามลำดับ

ความสำคัญของเส้นทางน้ำสายนี้ที่มีเรือขนส่งสัญจรไปมานับหมื่นเที่ยวในแต่ละปี เป็นชนวนสำคัญที่ทุกฝ่ายอาจต้องเร่งหาแนวทางป้องกันอุบัติเหตุและให้ความสำคัญเกี่ยวกับจราจรทางน้ำเพื่อลดความสูญเสียทั้งชีวิตและมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนที่สุด

 

ข้อมูล : 

รายงานสถิติข้อมูล ปีงบประมาณ 2563

การศึกษาความเสี่ยงของการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง