อนาคตปทุมธานี ในมุมมองผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์

สังคม
3 ต.ค. 64
11:23
28,228
Logo Thai PBS
อนาคตปทุมธานี ในมุมมองผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์
ไทยพีบีเอสสัมภาษณ์ Exclusive พ่อเมืองคนใหม่ จ.ปทุมธานี “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ทั้งเรื่องปัญหาน้ำท่วมที่เหมือนจะมาพร้อมผู้ว่าฯ การฟื้นฟูเมืองปทุมหลังสงคราม COVID-19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีรอบใหม่อีกหรือไม่

วันเดินทางลำปาง-ปทุมธานี น้ำกับผู้ว่าฯ ใครมาถึงก่อน?

ผมถึงก่อน คือผมนั่งรถมาเพราะไม่มั่นใจไฟล์ตบินช่วงนี้ กลัวจะพลาดเรื่องงาน ตอนแวะรับประทานอาหารระหว่างทางก็พบว่า น้ำไล่มาตามแม่น้ำ พอลงมาถึงก็เลยกังวล เรียกประชุมทีมงานของจังหวัด เพื่อรับฟังสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มีโจทย์ 3-4 ประเด็น หนึ่งทุกคนรู้ว่าเราจะสร้างเขื่อนกั้นน้ำท่วมตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับมาตรฐานของเขื่อนป้องกันน้ำท่วม จ.ปทุมธานี สูงประมาณ 63 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง วันนี้จึงอยากรู้ว่าน้ำอยู่ที่ระดับไหน ซึ่งชลประทานชี้แจงว่า เวลาน้ำลงก็ประมาณ +1.9 ม.รทก. ส่วนเวลาสูงประมาณ 2.4 ม.รทก.

เมื่อดูความสูง มันก็ยังมีพื้นที่อีก 60 เซนติเมตร ซึ่งยังรับน้ำได้อีก แต่ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำส่วนหนึ่งก็ได้รับผลกระทบไปแล้ว ส่วนพื้นที่ด้านในต้องป้องกันเพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่ที่ชุมชนอยู่แบบมั่นคงแล้ว เป็นหมู่บ้านจัดสรร นิคมอุตสาหกรรม


โจทย์ที่สอง เมื่อดูตัวเลขอุทกศาสตร์พบว่า น้ำจะขึ้นสูงประมาณ 3 เมตร และยังเกิดสถานการณ์น้ำทะเลจะหนุนสูงช่วงสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ยังคาดการณ์ด้วยว่าจะมีร่องมรสุมเข้ามาอีก ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ฝนจะตกประมาณ 60 มิลลิเมตร จึงให้โจทย์ชลประทานไปว่า ถ้าฝนตกทั่วไปทั้งพื้นที่ตามที่คาดการณ์ เราจะสามารถระบายน้ำออกไปได้เร็วขนาดไหน

ขณะเดียวกันปทุมธานีมีคลองรพีพัฒน์และคลองรังสิตเป็นพื้นที่รับน้ำจากการระบายเป็นหลักอยู่แล้ว โดยตอนนี้ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำจากคลองไปลงแม่น้ำไว้แล้วประมาณ 30 ตัว และชลประทานบอกว่า ตอนนี้เร่งพร่องน้ำในคลองเต็มที่ ซึ่งคลองมีระดับความสูงเกือบ 2 ม.รทก. พร่องน้ำอยู่ที่ระดับ -0.5 หมายความว่ายังรับได้อีกกว่า 2 เมตร

ส่วนโจทย์ที่ 3 คือ ให้ไปดูว่า เครื่องสูบน้ำทำงานได้จริงไหม อุปกรณ์ทั้งหมดที่มีอยู่ทำงานได้จริงไหม และการระดมสรรพกำลังบูรณาการว่าจะต้องใช้กำลังจากหน่วยไหนเวลาฉุกเฉิน ใครจะยกของ ใครจะสูบน้ำ ใครจะไปโบกรถ เตรียมไว้ให้หมด

เวลามองสถานการณ์ เราต้องมองเคสที่เลวร้ายที่สุดก่อน ถ้าสถานการณ์อยู่ตรงกลางเราก็หมูแล้ว หรือถ้าต้น ๆ ยิ่งเบา วันนี้ก็ให้โจทย์ไป ทุกคนก็ตอบมาในระดับหนึ่ง เดี๋ยวก็จะไปดูพื้นที่กันอีก

เป็นผู้ว่าฯ มากับน้ำ ทั้งน้ำท่วมถ้ำหลวง น้ำท่วมปทุมธานี?

ยังไม่ขนาดนั้น มีอีกมุมให้คิดว่า การที่เราได้ทำงานแก้ปัญหาให้กับประชาชน เราทำให้ประชาชนเขามีความสบายใจ มีความสุขได้ ถ้าเราทำให้ประชาชนได้ ก็ดีกว่าเรานั่งเฉย ๆ ผมคิดว่า การที่เราได้รับโจทย์ยาก มันทำให้เราพิสูจน์ว่าเราได้ตั้งใจและเราก็ทำงานอะไรได้หลายเรื่อง

จริง ๆ เรื่องน้ำนี่เป็นเรื่องที่หนึ่ง ยังมีเรื่อง COVID-19 อีกเรื่อง เป็นสัปดาห์ที่ 2 ที่ปทุมธานีไม่อยู่ใน 10 จังหวัดแรกที่คนติดเชื้อมากที่สุด ซึ่ง Key Factor หลักอยู่ที่การฉีดวัคซีน เท่าที่ได้รับรายงานมาเบื้องต้นพบว่าฉีดไปแล้วเกือบ 80% ซึ่งถ้าพูดโดยทฤษฎีแล้ว ชาวปทุมธานีได้รับวัคซีนเกิน 70% ขึ้นไป เราสามารถสร้างภูมิเสมือนได้ โอกาสเสี่ยงก็น้อยลง


ในเรื่องนี้ได้เตรียมให้โจทย์กับฝ่ายสาธารณสุขไปวางแผนว่า ทำอย่างไรจะรณรงค์ให้คนฉีดมากที่สุด แต่คงไม่ 100% เพราะยังมีคนที่ยังไม่ยอมฉีด ข้อสองคือ เป็นไปได้ไหมที่จะลดพื้นที่ของโรงพยาบาลสนาม เพราะการเปิดโรงพยาบาลสนามแต่ละแห่ง ทำให้หมอ พยาบาล เหนื่อยเพิ่มขึ้น

เราก็ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์ COVID-19 ในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือจะระบาดระลอกใหม่ ดังนั้น การให้นักรบเสื้อกราวน์ได้พักบ้าง ผมว่ามันน่าจะดี เพราะรบยาวเกินไป

ส่วนเรื่องการผ่อนคลายมาตรการก็จะดูนโยบายของ ศบค. โดยพยายามจะใช้โมเดลที่ผ่อนคลายเท่าที่ทำได้ และได้คุยเบื้องต้นกับฝ่ายแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม พยายามทำให้สถานประกอบการทุกแห่งปลอด COVID-19 ด้วยการให้เจ้าหน้าที่ 100% หรือเกือบ 100% ได้รับวัคซีน รวมทั้งการทำ Covid Free Setting เพื่อให้สถานประกอบการทำธุรกิจของเขาได้

มีแผนงานที่อยากทำในอนาคตอย่างไร?

เราอยากให้ปทุมธานีเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อประชาชน ให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข มีสวนสาธารณะเป็นปอดให้หายใจ นอกจากนี้ จะดูเรื่องนิคมอุตสาหกรรมด้วย อยากจะทำเรื่องสิ่งแวดล้อมในเรื่องของสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อจะให้เป็นเมืองสีเขียว อยากให้คลองของเราใสและเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้


ที่นี่ก็มีสถาบันวิทยาศาสตร์และสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง เราอยากจะเป็นเมืองศูนย์กลางของวิทยาศาสตร์ เป็น Co-working Space มี Wifi Free ในทุกเขตชุมชน และคนสามารถมาทำธุรกิจได้โดยไม่ต้องเปิดร้านก็ขายของได้ อยากให้ทุกคนมาใช้ Facility ที่รัฐจัดให้ และสร้างอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์

เรามีมหาวิทยาลัย มีศูนย์วิทยาศาสตร์ มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มันอยู่ในนี้หมด เราน่าจะพัฒนาเมืองเราเป็นเมืองวิทยาศาสตร์ และให้น้องๆ นักเรียนมาดูงานได้ ถ้ามาดูงานได้ ก็หมายความว่า พี่น้องของเราสามารถที่จะมาขายอาหาร ทำมาค้าขายได้อีกเยอะ

ภาระหนักขับเคลื่อนไปสู่สิ่งที่หวัง?

อย่าบอกว่าเป็นภาระหนักเลย แต่ใช้คำว่ามันท้าทายดีกว่า ถ้าเราจะตั้งใจทำงาน ไม่มีที่ไหนง่าย เพียงแต่ว่าเราจะตั้งใจขนาดไหน ทำตามหน้าที่ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวัน ๆ ก็จบแล้ว แต่ถ้าเราตั้งใจให้เป็นอย่างที่บอก เป็น Covid Free พ่อค้า แม่ค้า ทำการค้าขาย เป็นเมืองเศรษฐกิจได้ เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นเมืองวิทยาศาสตร์

นี่ยังไม่นับเรื่องการท่องเที่ยว ถามว่าปทุมธานีมีการท่องเที่ยวได้ไหม One Day Trip ทำได้อยู่แล้ว ทำไมไม่เอาทริปมาดูวิทยาศาสตร์ พาลูกหลานมาเปิดหูเปิดตา เหมือนเกาะเกร็ดที่มีวิถีชุมชน พัฒนาให้เป็นชุมชนการท่องเที่ยวที่ชิล ๆ ผมว่ามันพัฒนาได้


คำถามว่ามันท้าทายตรงไหน คือมันจะเป็นเมืองก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมีชุมชนเกษตรด้วย ฝั่งลาดหลุมแก้ว หนองเสือ มีชุมชนเกษตร ปลูกข้าวหอมปทุม ปลูกกล้วยหอม สิ่งๆ ต่างเหล่านี้ถ้าเราพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เรายังไปได้อีกเยอะ คิดว่าเป็นโจทย์ท้าทายที่ทำให้คนใกล้เมืองกรุงมีชีวิตแบบมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนคนเมืองกรุง แต่มีความสุข มีธรรมชาติเหมือนคนชนบท และอากาศบริสุทธิ์ มีเทคโนโลยีที่ไฮเทค

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง