คันกั้นน้ำท่วม? คุ้มค่าหรือว่าสุ่มเสี่ยง

ภัยพิบัติ
6 ต.ค. 64
14:18
1,297
Logo Thai PBS
คันกั้นน้ำท่วม? คุ้มค่าหรือว่าสุ่มเสี่ยง
ชาวบ้านสะท้อนชีวิตหลังคันกันน้ำ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังไม่พ้นน้ำท่วมต้องเสริมแนวกระสอบทรายอีกชั้น ระบุปัญหาน้ำปี 2564 มาแรง เร็วไว เพราะคันกันน้ำขึ้นพรึ่บตลอดแนวเจ้าพระยา บ้านถมสูงน้ำไม่มีที่ไป "ผังเมือง" ชี้คันกั้นน้ำ 5 กม.ใช้งบเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อกม.
ชุมชนบ้านกุ่มน้ำท่วมสูง 2 เมตร ใกล้สถิติปี 2554 ที่สูงสุด 2.5 เมตร ส่วนหนึ่งน้ำเจ้าพระยาไหลแรง มาเร็ว เพราะถูกบีบจากการทำคันกั้นน้ำ บล็อกเป็นจุดๆ บ้านเรือนถมสูงขึ้น ไม่มีพื้นที่ให้น้ำบ่าออกไปได้

ณรงค์ บัวขจร ชาวบ้าน ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งข้อสังเกตกับทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ หลังปีนี้น้ำเข้าท่วมบ้านแบบมาเร็ว มาไวและท่วมไว

น้ำท่วมแค่ 10 วัน สูงเกือบ 2 เมตร ถึงจะเป็นปกติที่ชุมชนจะน้ำท่วมทุกปี แต่จะค่อยๆ สูงจากระดับตาตุ่มขึ้นมาเป็นแบบนี้อยู่เกือบ 1 เดือนในช่วงน้ำหลาก แต่รอบนี้มาไว แรง เร็ว ทั้งที่บ้านยอมถมบ้านสูงอีก 1.20 เมตร 
ภาพ:เฟซบุ๊ก ณรงค์ บัวขจร

ภาพ:เฟซบุ๊ก ณรงค์ บัวขจร

ภาพ:เฟซบุ๊ก ณรงค์ บัวขจร

บีบน้ำส่งผลปีนี้น้ำแรง มาไว ท่วมสูง

เขาบอกว่า ไม่คิดว่าจะมีน้ำท่วมปีไหนที่หนักเท่ากับปี 2554 แต่เดือน ต.ค.ปีนี้ ระดับน้ำท่วมแทบใกล้เคียงกับสถิติปี 2554 สาเหตุเพราะตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ ทุกจังหวัดตั้งแต่นครสวรรค์ ไล่ลงมาจนถึงอ่าวไทย มีโครงการทำคันกั้นน้ำ เขื่อนกันตลิ่งพัง บ้านที่มีเงินก็ยอมถมพื้นที่สูง ให้เท่าระดับน้ำท่วมใหญ่ ทำให้น้ำที่เคยบ่าออกเข้าพื้นที่บางจุดถูกบล็อก

ผมเรียกว่าเป็นการบีบน้ำให้ไหลทางตรง ไม่ให้เขามีทางเลี้ยว ถ้าเทียบกับสมัยก่อน หน้าน้ำหลากน้ำยังไหลเข้าท่วมทุ่ง แก้มลิงธรรมชาติชะลอไม่ให้ไหลทางเดียว

ณรงค์ บอกอีกว่า ตั้งแต่ปี 55 มีคันกั้นน้ำตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยาสูง 1-2 เมตร แต่หลายจังหวัดก็เจอปัญหาเดียวกัน เพราะน้ำถูกบีบมากๆ แรงอัดเยอะ สุดท้ายคันก็แตกพัง เช่นที่อ่างทอง ส่วนที่บ้านกุ่ม หลายคนก็ไม่เอาคันกั้นน้ำสูง 1 เมตร เพราะเสียทัศนียภาพ และจะลำบากเรื่องการเข้าออก 

บล็อกกระสอบทรายหลังคันกั้นน้ำท่วม

เช่นเดียวกับที่ชุมชนธรรมสิทธิ์เสนา อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านต้องวางแนวกระสอบทรายยาวสุดลูกหูลูกตา หลังจากน้ำในแม่น้ำน้อยที่ไหลผ่าน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนริ่มตลิ่งเหลือเพียงชั้น 2 ที่ยังสามารถอาศัยได้

น้ำท่วมมา 1 สัปดาห์ จนมิดชั้นล่าง อยู่ไม่ได้ต้องย้ายออกไปอาศัยบ้านน้องสาว แต่ถึงออกไปก็กังวลต้องเข้ามาดูของทุกวัน

ชูศรี ตั้งพิพักษ์สกุล ชาวบ้านธรรมสิทธิ์เสนา อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ โดยยอมรับว่า น้ำขึ้นทุกวัน ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ข้าวของบางส่วนที่ยกไม่ทันก็ปล่อยทิ้ง ส่วนชาวบ้านบางคนหารายได้ทำหน้าที่พายเรือรับส่ง ได้ค่าจ้างคนละ 10-20 บาท 

อ่านข่าวเพิ่ม ที่ไหนบ้าง? เทียบน้ำท่วมปี 54-64

คันกั้นน้ำท่วมชุมชน-ลงทุนสูง

สถานการณ์น้ำท่วมปี 2564 พบว่า หลายชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ท้ายเขื่อนในลุ่มเจ้าพระยา ตั้งแต่จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี รวมทั้งกทม.บางจุด ยังต้องเผชิญน้ำท่วมสูง

แม้ว่าหนึ่งในโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาวหลังปี 2554 คงหนีไม่พ้นการก่อสร้างคันกั้นน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บอกว่า ตั้งแต่ปี 2555 หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ หลายหน่วยงานทั้งกรมชลประทาน กรมเจ้าท่า รวมทั้งกรมโยธาธิการ มีการทำคันกั้นน้ำในพื้นที่ชุมชนเมืองพระนครศรีอยุธยา ที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลายแนวคันกั้นน้ำในพื้นที่

 

เจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.พระนครศรีอยุธยา บอกว่า คันกั้นน้ำที่ทางโยธาฯ รับผิดชอบประเมินทำคันสูง 1 เมตรจากตลิ่งคือ วัดจาก รท.ก.+ 5 ทำคันสูง 1 เมตร และวาง sheet pile ตั้งแต่เทศบาล 3 และเทศบาลตำบลสามกอ อ.เสนา กั้นน้ำท่วมจากแม่น้ำน้อยป้องกันชุมชน 2.55 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสมัยก่อนน้ำท่วมเป็นประจำ

ปี 2555 จนถึงปี 2562 มีโครงการรวม 4 ระยะทำคันกั้นน้ำ สูง 1 เมตร ล้อมชุมชนเทศบาล 3 และเทศบาลต.สามกอ ความยาว 5,716 เมตรหรือ 5 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 671 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี 

เจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง ยืนยันว่า ปีนี้ยังไม่มีน้ำท่วมล้นตลิ่งเข้ามาในพื้นที่คันกันน้ำอยู่ แต่บางปีอาจจะมีน้ำท่วมในคันกั้นน้ำ จากฝนที่ตก แต่มีการสูบระบายน้ำออก ส่วนการเสริมแนวคันกั้นน้ำเพิ่มเติม ทางเทศบาลได้ขอโครงการไปที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบ ยังไม่กำหนดงบประมาณ

นอกจากโครงการของสำนักงานโยธาฯ พบว่าในปี 2560 กรมชลประทาน ได้เสนอทำโครงการขุดคลองระบายน้ำหลากด้วยการสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยา ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา ความยาว 23 กิโลเมตร กว้าง 230 เมตร โดยต้องใช้งบ 6,000 ล้านบาท

ส่วนอีกโครงการเป็นการเสริมคันกั้นน้ำตามแนวริมถนนเข้าพระยาให้สูงขึ้นอีก 50 ซม.ถึง 1 เมตร ในพื้นที่ต่ำสุดของฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา จากอ.ป่าโมก ต.อ่างทอง อ.บางบาล บางปะอิน และบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา วงเงิน 500-600 ล้านบาท

กางงบแก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง 2564 

จากการตรวจสอบพบว่า นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติงบกลางจำนวน 3,851.2251 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัยปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2564/2565 จำนวน 3,378 รายการ

โดยอยู่ภายใต้ 3 กระทรวง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย 9 จังหวัด (กำแพงเพชร เชียงราย นครศรีธรรมราช พะเยา พัทลุง พิจิตร ยโสธร สระบุรี หนองคาย) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 33 จังหวัด เช่น โครงการขุดลอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ 541 รายการ วงเงิน 540.33 ล้านบาท

โครงการซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ 1,028 รายการ 1,462.44 ล้านบาท และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน 334 รายการ วงเงิน 538.59 ล้านบาท โครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นทั่วประเทศ 72 โครงการ 33.32 ล้านบาท โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค 120 รายการ 46.88 ล้านบาท 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

น้ำชีทะลัก! ฟาร์ม-กู้ภัยขอนแก่น ระดมขนหมูหนีน้ำท่วม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง