"ทนายเดชา" เตือน ซื้อรถยนต์ถ้าผ่อนไม่ไหวให้คืน ระวัง "ขายดาวน์" เสี่ยงทำผิดกฎหมาย

เศรษฐกิจ
7 ต.ค. 64
14:46
3,045
Logo Thai PBS
"ทนายเดชา" เตือน ซื้อรถยนต์ถ้าผ่อนไม่ไหวให้คืน ระวัง "ขายดาวน์" เสี่ยงทำผิดกฎหมาย
ทนายแนะแนวทางส่งคืนรถให้ บ.ไฟแนนซ์ หากรับภาระส่งงวดรถต่อไม่ไหว เตือนระวัง "ขายดาวน์" ต้องเปลี่ยนคู่สัญญาเช่าซื้อกับ บ.ไฟแนนซ์ อย่างถูกต้อง มิฉะนั้นอาจเสี่ยงรับภาระหนี้และทำผิดกฎหมาย

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนค่อนข้างมาก ตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย โดยระบุว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5 % ต่อ GDP สูงสุดในรอบ 18 ปี ตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ดังนั้น จึงเห็นว่าในช่วง 1-2 ปีนี้ มีผู้ที่เช่าซื้อรถยนต์หลายแห่ง รับภาระไม่ไหว ผ่อนชำระต่อไปไม่ได้ อาจใช้แนวทางการ "ขายดาวน์" รถยนต์

ไทยพีบีเอสออนไลน์สอบถาม นายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือ "ทนายเดชา" เจ้าของเพจทนายคลายทุกข์ ซึ่งให้คำแนะนำกรณีที่ผู้เช่าซื้อรถยนต์ไม่สามารถส่งงวดรถต่อไปได้ ควรดำเนินการใน 3 แนวทาง เพื่อลดภาระในการส่งงวดรถยนต์และยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา คือ

1.คืนแล้วจบ ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อไม่ผิดนัด ในการชำระค่างวดแก่ บริษัทไฟแนนซ์ สามารถส่งคืนรถให้กับ บริษัทไฟแนนซ์ได้ โดยแนวทางนี้จะไม่มีปัญหาใดๆ ตามมา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 ที่สามารถบอกเลิกสัญญาได้

2.กรณีผู้เช่าซื้อผิดนัด หรือ ค้างชำระค่างวด หากต้องการส่งคืนรถให้กับ บริษัทไฟแนนซ์ ให้ชำระงวดที่ค้าง หรือ เบี้ยปรับทั้งหมด ก็สามารถดำเนินคืนรถให้กับ บริษัทไฟแนนซ์ ได้โดยไม่มีปัญหาตามมาเช่นกัน 

3.กรณีการที่ บริษัทยึดรถ และนำขายทอดตลาด ผู้เช่าซื้ออาจต้องชำระค่าส่วนต่างจากการขาย ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ และอื่น ๆ ให้กับ บริษัทไฟแนนซ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคท้ายที่ระบุว่า "เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และ การเลิกสัญญาไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย"

นายเดชา กล่าวว่า กรณีการ "ขายดาวน์" ที่พบว่า มีผู้เช่าซื้อรถยนต์ขายดาวน์รถยนต์ทั้งผ่านเพจต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน หรือ เพื่อนและคนรู้จัก ซึ่งอาจนำไปสู่การทำผิดกฎหมายได้ เนื่องจากรถยนต์ดังกล่าวกรรมสิทธิ์ยังเป็นของ บริษัทไฟแนนซ์ จึงไม่สามารถนำไปขายแก่บุคคลอื่นได้ เนื่องจากต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ก่อน

หากกระทำโดยไม่ยินยอม ถือว่าเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ และเข้าข่ายการกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ซึ่งมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากผู้เช่าซื้อเดิมยังคงจะต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อกับ บริษัทไฟแนนซ์ ต่อไป

ดังนั้น หากผู้ซื้อมีความต้องการที่จะซื้อรถต่อจากผู้เช่าซื้อเดิม ควรติดต่อไปยัง บริษัทไฟแนนซ์ ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ เพื่อตรวจวิเคราะห์สินเชื่อของผู้ซื้อรายใหม่ หาก บริษัทไฟแนนซ์ ตรวจสอบและพบว่า มีคุณสมบัติที่เพียงพอ จะสามารถรับภาระในการชำระค่างวดต่อได้ ก็จะเปลี่ยนสัญญาให้ผู้ซื้อรายใหม่ได้ 

ผู้ที่ซื้อไปโดยไม่ผ่าน บริษัทไฟแนนซ์ แสดงว่าอาจเครดิตไม่ดี ถ้าเครติดดีก็สามารถเช่าซื้อผ่านระบบไฟแนนซ์ได้ ดังนั้น การขายดาวน์จึงเป็นรูปแบบที่อาจนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมาย เช่น รถถูกชำแหละ หรือ กรณีอืน ๆ ซึ่งผู้รับผิดชอบคือ ผู้เช่าซื้อเดิมที่ีทำสัญญากับ บริษัทไฟแนนซ์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง