"เขื่อนแม่กลอง" เตือนจะระบายน้ำเพิ่ม หวั่นกระทบ "ราชบุรี-สมุทรสงคราม"

ภัยพิบัติ
9 ต.ค. 64
18:46
1,714
Logo Thai PBS
"เขื่อนแม่กลอง" เตือนจะระบายน้ำเพิ่ม หวั่นกระทบ "ราชบุรี-สมุทรสงคราม"
ชลประทานราชบุรี ออกหนังสือแจ้งเตือนประชาชนเตรียมรับมือน้ำท่วม หลังเขื่อนแม่กลองมีแผนขอปรับการระบายน้ำเพิ่ม ส่วน จ.สระบุรี เริ่มมีสัญญาณขึ้นหลังเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ลดการระบายน้ำ

วันนี้ (9 ต.ค.2564) ที่บริเวณวัดหงส์ดาราวาส ติดแม่น้ำป่าสัก อ.เสาไห้ จ.สระบุรี สภาพน้ำที่ล้นตลิ่งก่อนหน้านี้ ล่าสุดเริ่มลดลง แต่บางพื้นที่ อย่าง อ.บ้านหมอ ยังมีน้ำท่วมขังตามบ้านเรือนและพื้นที่กลางทุ่ง ที่รอการระบาย

ส่วนบริเวณประตูระบายน้ำ ตามพื้นที่ริมคลอง ยังมีน้ำสูงกว่าชุมชน บริเวณตลาดใหม่ท่าลาน ล่าสุดน้ำเริ่มลดลง ประมาณ 10-20 เซนติเมตร เช่นเดียวกับถนนสายท่าลานสระบุรี รถทุกชนิดสามารถสัญจรผ่านได้แล้ว

ขณะที่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ล่าสุดลดการระบายน้ำอยู่ที่ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำที่ท่วมบ้านเรือนประชาชน ใน 11อำเภอ ลดลงตามลำดับ

เตือนเขื่อนระบายน้ำเพิ่มกระทบ ราชบุรี-สมุทรสงคราม

ขณะที่ นายกิตติ์ชญ์ชาต เสมดำ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานราชบุรี ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ลุ่ม ทั้งราชบุรี และสมุทรสงคราม อาจได้รับผลกระทบจากน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น

หลังสำนักงานชลประทานที่ 13 ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา มีแผนระบายน้ำท้ายเขื่อนแม่กลองเพิ่มขึ้น ปริมาณ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ส่วนปริมาณน้ำที่เขื่อนรัฐประชาพัฒนา แม่น้ำแม่กลอง เขตเทศบาลเมืองราชบุรี พบว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำแม่กลองมีระดับที่สูงขึ้นและไหลเชี่ยว เอ่อล้นท่วมพื้นลานเขื่อนชั้นที่ 1 ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำต่ำ ต.คุ้งน้ำวน ต.สี่หมื่น จ.ราชบุรี ประกอบกับพื้นที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีน้ำทะเลหนุนสูง บ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำอาจได้รับผลกระทบ

 

น้ำท่วม จ.อ่างทอง ยังไม่คลี่คลาย

ส่วนชาวบ้านหมู่ที่ 7 ต.จรเข้ร้อง อ.ไชโย จ.อ่างทอง กว่า 20 คน รวมตัวกันที่บริเวณสะพานข้ามคลองบางศาลา เพื่อเรียกร้องให้รถแบคโฮ ของชลประทาน หยุดการกำจัดผักตบชวา ภายในคลองบางศาลา เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ถนนคอนกรีตทรุดตัว จนทำให้น้ำท่วมมากขึ้น

และพบชาวบ้านอีกกลุ่ม ซึ่งมีอดีตนักการเมืองท้องถิ่นใน ต.ชัยฤทธิ์ พยายามเข้ามาเจรจา แต่ไม่เป็นผลและมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง จนสุดท้ายชลประทานต้องหยุดดำเนินการ

ขณะที่สถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.อ่างทอง เขื่อนเจ้าพระยายังคงระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดระบายอยู่ที่ 2,561 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง เริ่มทรงตัวที่ระดับวิกฤต 9.2 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งต้องเฝ้าระวังพื้นที่เศรษฐกิจ อย่างตัวเมืองอ่างทองและตลาดป่าโมก ตลอด 24 ชั่วโมง จ.อ่างทอง มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมไปแล้ว 5 อำเภอ 38 หมู่บ้าน

ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.อุทัยธานี

ส่วนที่ ศาลาประชุมเทศบาลตำบลหาดทะนง อ.เมืองอุทัยธานี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของ จ.อุทัยธานี ที่ประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก แม่น้ำสะแกกรัง รวมทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาล้นฝั่ง เข้าท่วมขังบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ใน 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.สว่างอารมณ์ และ อ.ทัพทัน ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง