ฉีกตำราพยากรณ์! ฝนตกไร้รูปแบบ โลกร้อน-ฤดูเปลี่ยน

ภัยพิบัติ
11 ต.ค. 64
19:04
1,100
Logo Thai PBS
ฉีกตำราพยากรณ์! ฝนตกไร้รูปแบบ โลกร้อน-ฤดูเปลี่ยน
สัมภาษณ์สมควร ตันจาน ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา วิเคราะห์สถานการณ์ลานิญาไทย กับปรากฎการณ์ฝนตกที่ฉีกตำราพยากรณ์อากาศ ชี้ความผิดปกติจากความแปรปรวนสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อนที่พบชัดเจนในช่วง 5 ปี
ยอมรับว่าการพยากรณ์ฝนยังยาก เพราะตอนนี้ฝนตกไม่มีรูปแบบ ไม่เหมือนรูปแบบเดิม เช่น พยากรณ์ 24 ชม.ว่า กทม.ไม่มีฝนเช้ามาแดดเปรี้ยง ตกเย็นฝนมาหนัก บางแห่งพื้นที่ใกล้กันฝนต่างกันสิ้นเชิง

นายสมควร ตันจาน ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงความอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้นในไทย ถึงขั้นใช้คำว่าฉีกตำราพยากรณ์

เขาขยายความว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ จากภาวะโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งในฐานะนักอุตุนิยมวิทยา ยอมรับว่าจะทำให้การพยากรณ์ยากขึ้น แม้จะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ดีขึ้น แต่นั่นหมายถึงเทคโนโลยีเหล่านั้นต้องฉลาดมาก

ตอนนี้ฝนตกไม่มีรูปแบบ บางทีตกแช่ ตกหนักอยู่จุดเดียว เช่น ฝฝนตกที่จ.สกลนคร วัดได้ 134 มม. แต่ที่หนองคาย ตกแค่ 7 มม. ห่างกันอย่างสิ้นเชิง

 

ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตจากพายุเตี้ยนหมู่ ซึ่งพบว่าพายุไม่น่าจะพัฒนาเร็วมาก และโตภายใน 12 ชั่วโมง แต่พบพัฒนาเป็นโซนร้อนและพาฝนมาตกแช่อยู่แถว อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี

กรณีพายุเตี้ยนหมู่ อาจต้องเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้พายุพัฒนาไว แรง และทำให้ตกหนักแช่จุดเดียวจนเกิดภาวะน้ำท่วมในพื้นที่จ.ลพบุรี และใกล้เคียง

ไทยเจอลานิญาอ่อน-ฝนตกหนักโซนภาคใต้ 

นายสมควร บอกว่า  จากการติดตามอุณหภูมิผิวน้ำทะเล และระบบการหมุนเวียนบรรยากาศบริเวณตอนกลาง และด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเขตศูนย์สูตร พบว่าประเทศไทยมีโอกาสเจอปรากฎการณ์ลานิญาแบบอ่อนในช่วงพ.ย.-ธ.ค.นี้ หมายความว่า ปริมาณฝนจะมีค่าสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย และอุณหภูมิจะลดลง

อีก 1 เดือนไทยจะเผชิญลานิญาอ่อนๆในช่วงที่เข้าช่วงฤดูหนาว จะมีฝนตกมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้ฝั่งตะวันออก จะกระทบโดยตรง เพิ่มความถี่ของจำนวนวันที่ฝนตกเพิ่ม ซึ่งปกติลานิญาอ่อนๆจะดึงลมได้ดีกว่า อากาศหนาวเย็นจะเพิ่มขึ้น ในพื้นที่ภาคเหนือ และอีสานโดยเฉพาะยอดดอย ยอดภู 

ผอ.กองพยากรณ์อากาศ กล่าวอีกว่า จากการติดตามลักษณะปรากฎการณ์เอลนิโญ และลานิญาในบ้านเรา เริ่มพบความผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งอดีตการคาดการณ์ค่าอุบัติซ้ำของปรากฎการณ์บางครั้งหลายปีจะเจอวงรอบ แต่นับตั้งแต่ปี 2560-64 เริ่มพบเอลนิโญ่ และลานิญาแทบจะสลับกัน และบางปีก็พบเอลนิโญ่ต้นปี ปลายปีเจอลานิญา

สถิติย้อนหลังในช่วง 5-6 ปีมานี้พบว่าบางปีไทยเจอเอลนิโญคือแห้งแล้งสุดๆ ส่วนปีถัดมาเจอลานิญา ฝนตกหนักน้ำท่วม สลับกันแบบนี้ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน จะทำให้คาดการณ์ค่าอุบัติซ้ำ การพยากรณ์อากาศทำได้ยากขึ้น

รู้จักปรากฎการณ์ลานิญา 

ลานิญา คือปรากฏการณ์ที่กลับกันกับเอลนิโญ กล่าวคือ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกของแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรมีค่าต่ำกว่าปกติ เนื่องจากลมค้าตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงมากกว่าปกติ จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากตะวันออกไปสะสมอยู่ทางตะวันตกมากยิ่งขึ้น

ทำให้บริเวณดังกล่าวซึ่งเดิมมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลสูงกว่าทางตะวันออกอยู่แล้วยิ่งมีอุณหภูมิและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปอีก ปรากฏการณ์ลานีญาเกิดขึ้นได้ทุก 2–3 ปี และปกติจะเกิดขึ้นนานประมาณ 9–12 เดือน แต่บางครั้งอาจปรากฏอยู่ได้นานถึง 2 ปี

สำหรับประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา บันทึกว่าในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ พ.ศ.2494 – 2543) มีปรากฏการณ์ลานีญาเกิดขึ้น 9 ครั้ง มีช่วงลานิญาเกิดขึ้นรุนแรง 2531-2532 และ2538 และใน พ.ศ. 2542-2543

ไทยส่งแผนลดก๊าซเรือนกระจก COP-26 ปลายต.ค.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ผ่านระบบ Video Conference ในงานประชุมสุดยอดผู้นำความยั่งยืนประจำปี 2564 GCNT Forum: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021  โดยไทยกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ที่ร้อยละ 20–25 จากกรณีปกติภายในปี พ.ศ.2573 ในสาขาพลังงานและขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสียชุมชน

 

ปัจจุบันร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา และจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาว ไปยัง UNFCCC ในช่วงการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในช่วงปลายเดือนต.ค.นี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนพายุดีเปรสชัน "ไลออนร็อก" กระทบเหนือ-อีสานฝนตกหนัก

 ชี้ทิศทาง "ไลออนร็อก" กระทบไทยน้อย ไม่ซ้ำรอยฝนหนักเตี้ยนหมู่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง