อ้างรับบริจาคเงิน 3 แสนไถ่งูท้อง 500 ชีวิต ปล่อยป่า "เชียงดาว"

สิ่งแวดล้อม
13 ต.ค. 64
15:01
5,924
Logo Thai PBS
อ้างรับบริจาคเงิน 3 แสนไถ่งูท้อง 500 ชีวิต ปล่อยป่า "เชียงดาว"
กรมอุทยานฯ สั่งตรวจสอบปมเพจเฟซบุ๊ก เปิดรับบริจาคเงิน 300,000 บาท อ้างไถ่ชีวิตงูท้อง 500 ตัว ปล่อยเข้าป่าดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ยืนยันผิดกฎหมาย เนื่องจากงู 14 ชนิดอยู่บัญชีคุ้มครองไม่อนุญาตปล่อยงู หรือสัตว์ป่าทุกชนิดโดยบุคคลนอก ชี้กระทบระบบนิเวศ

กรณีเพจเฟซบุ๊กกระดาน บอกบุญ หล่อพระ โพสต์ข้อความเชิญชวนว่า ไถ่ชีวิตงู 500 ชีวิตขอคนละแชร์เนื้อหาระบุว่า ครั้งเดียวครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลายร้อยปี ช่วยชีวิตงูท้อง 500 ชีวิต จากการโดนฆ่าเป็นอาหาร ใช้งบประมาณในการไถ่ชีวิต 301,000 บาทปล่อยที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่ายูเนสโก (Unesco) เทือกเขาเชียงดาว จ.เชียงใหม่ สามารถร่วมบุญตามจิตศรัทธา หรือรับเจ้าภาพกองละ 10,000 บาท รับเพียง 30 กองเท่านั้น พร้อมทั้งระบุเลขชื่อบัญชีธนาคารแห่งหนึ่ง และปิดรับวันที่ 30 ต.ค.นี้ 

วันนี้ (13 ต.ค.2564) ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบพบว่าหลังจากเริ่มเปิดรับบริจาคไปแล้ว เริ่มมีผู้เข้ามาบริจาคผ่านทางบัญชีที่ระบุไว้ พบว่ามียอดการบริจาค ตั้งแต่ 19 บาท 50 บาท 59 บาท 100 บาท ตามกำลังศรัทธา และยอดไหลเข้ามาเรื่อยๆ เนื่องจากทางผู้บริจาคจะส่งสลิปบัญชีใส่ในคอมเมนต์ 

ขณะที่ยังพบว่าเพจดังกล่าวมีการเปิดขอรับบริจาคในวาระต่างๆ เช่นล่าสุดวันนี้ ขอรับบริจาคคนละ 9 บาทเพื่อร่วมบุญช่วยอาหารช้างให้ช้างที่กำลังจะอดตาย จำนวน 108 เชือกของปางช้างแม่แตง บ้านแม่ตะมาน ต.กึ้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 ทำบุญปล่อยปลาหน้าเขียง และการทำบุญน้ำดื่ม บริจาคโลง ซึ่งเป็นลักษณะเพจสื่อกลางบอกบุญ  

ทั้งนี้ ไทยพีบีเอสออนไลน์ ได้พยายามติดต่อไปยังเพจดังกล่าวเพื่อตรวจสอบข้อมูลแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบกลับ 

กรมอุทยานฯสั่งสอบรับเงินบริจาคปล่อยงู 

นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนเรื่องการเปิดรับบริจาคเงินไถ่ชีวิตงูว่าเป็นจริงหรือไม่ โดยมอบหมายให้ชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง กรมอุทยานฯ ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด โดยเฉพาะงูท้อง 500 ตัวที่อ้างจะไถ่ชีวิต และปล่อยคืนเป็นงูชนิดไหน แต่ยืนยันว่าไม่มีการอนุญาตให้ใครนำไปปล่อยโดยพลการอย่างเด็ดขาด 

สั่งให้ชุดเหยี่ยวดง ตรวจสอบข้อมูลทันที ยืนยันว่าไม่อนุญาตให้ใครนำงู หรือสัตว์ป่าไม่ว่าชนิดไหนไปปล่อยในป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะก่อนจะปล่อยสัตว์ป่าต้องมีกระบวนการทางวิชาการ และต้องไม่ปล่อยนอกถิ่นกำเนิด หรือเอาสัตว์ที่ไม่มีในป่าไปปล่อยเด็ดขาด เพราะจะกระทบต่อนิเวศ 

งูห้ามซื้อห้ามขาย-ปล่อยต่างถิ่นกระทบนิเวศ

นายสมปอง ทองสีเข้ม ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า งูส่วนใหญ่อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พศ.2562 ซึ่งไม่อนุญาตให้ล่าและค้าขายได้ ถึงแม้จะอ้างว่านำไปบริจาค แต่ยังไม่รู้ว่าที่มาของงูมาจากไหน และมีชนิดไหนบ้าง แต่โดยกฎหมายไม่มีการอนุญาตให้ปล่อยงูโดยบุคคลภายนอกอย่างเด็ดขาด

ไม่มีการอนุญาตให้นำงูไปปล่อยในป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะที่ดอยหลวงเชียงดาวอย่างเด็ดขาด เพราะถ้านำงูชนิดที่ไม่มีในพื้นที่ป่า หรือไม่ใช่ถิ่นอาศัยของงูแต่ละชนิดอาจจะกระทบต่อระบบนิเวศ ถ้าฝ่าฝืนถือว่าผิดกฎหมายแน่นอน

ขณะที่สัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ข้อมูลว่า  สำหรับการจับงูที่ส่วนกลาง ที่เข้ามาในคลินิกสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ส่วนใหญ่ที่นำส่งมาจะมาจากกู้ภัย อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.)  ซึ่งส่วนมากที่พบส่วนใหญ่จะเป็นพวกงูเหลือม งูหลามที่พลัดหลงเข้าบ้านเรือนประชาชน

ส่วนใหญ่ถ้าบาดเจ็บก็จะดูแลก่อน และถ้าแจ้งผ่านสายด่วน 1362 ในสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 ก็จะรับมา และรวบรวมไปส่งตามสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าก่อน ยังไม่ได้นำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติทันที เพราะเรื่องการปล่อยงู ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และส่วนใหญ่จะทำโดยส่วนราชการ

14 ชนิดงูสัตว์ป่าคุ้มครองในไทย

ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ระบุว่า มีงู 14 สายพันธุ์ ที่อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ประกอบไปด้วย 1.งูเขียวกาบหมาก 2.งูจงอาง 3.งูสิง 4.งูสิงหางดำ 5.งูสิงหางลาย หรือ งูสิงลาย 6.งูแสงอาทิตย์ 7. งูเหลือม 8. งูหลาม 9.งูหลามปากเป็ด 

และกลุ่มสุดท้าย 10.งูทางมะพร้าวเขียว 11.งูทางมะพร้าวดำ หรือ งูทางมะพร้าวมลายู หรือ งูหลุนชุน 12.งูทางมะพร้าวแดง 13.งูทางมะพร้าวลายขีด 14.งูทางมะพร้าวหางดำ

สำหรับกรณีการเปิดรับบริจาคเงินเพื่อไถ่ชีวิตงูเพื่อสะเดาะเคราะห์ เคยมีลักษณะคล้ายกันเมื่อเดือนม.ค.2562 โดยเป็นเหตุการณ์ที่วัดสว่างโสภณ ต.ตานี อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ซึ่งขณะนั้น เจ้าอาวาสนำคณะลูกศิษย์ประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์เสริมดวงชะตา ด้วยการโดยผู้สะเดาะเคราะห์ต้องบริจาคสำหรับปล่อยงูตัวขนาดใหญ่ 8,000 บาท และงูตัวเล็ก 2,000 บาท โดยพบว่ามีการปล่อยงูเห่าและงูจงอาง 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปล่อยงูเห่า-จงอาง "สะเดาะเคราะห์" เข้าข่ายค้าสัตว์ป่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง