สตาร์ตอัปญี่ปุ่นพัฒนาหุ่นยนต์เก็บพริกหยวก ลดปัญหาขาดแรงงาน

Logo Thai PBS
สตาร์ตอัปญี่ปุ่นพัฒนาหุ่นยนต์เก็บพริกหยวก ลดปัญหาขาดแรงงาน
การเข้ามาของเทคโนโลยีในภาคการเกษตร อาจทำให้การทำงานของเกษตรกรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้น ใช้แรงงานน้อยลง บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีในญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับเกษตรกรท้องถิ่น พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเริ่มทดลองเก็บพริกหยวกเป็นอย่างแรก

การขาดแคลนแรงงานของภาคการเกษตร ได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของการเก็บเกี่ยว เกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ แต่เริ่มมีอายุมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพสำหรับภาคการเกษตร เทคโนโลยีจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานดังกล่าว

L เป็นหุ่นยนต์ช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร พัฒนาโดย AGRIST บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีการเกษตรในประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับความร่วมมือในการผลิตจากเกษตรกรในท้องถิ่นของเมืองชินโตมิ จังหวัดมิยาซากิ ประเทศญี่ปุ่น งานชิ้นแรกของหุ่นยนต์ L คือการช่วยเก็บพริกหยวกในเรือนกระจกของเกษตรกร

หุ่นยนต์ที่ช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิตนี้ มีความแตกต่างจากหุ่นยนต์ช่วยเหลือเกษตรกรตัวอื่น ๆ ตรงที่หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ไปมาบนสายเคเบิลที่ถูกติดตั้งอยู่ในโรงเรือน จึงไม่จำเป็นต้องมีล้อ หรือติดตั้งรางดินสำหรับหุ่นยนต์ โดยหุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ ในโรงเรือนได้สะดวก และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ติดตั้ง จะช่วยให้หุ่นยนต์สามารถตัดสินใจได้เอง เมื่อเจอพริกหยวกที่มีสีและขนาดที่พร้อมเก็บเกี่ยว หุ่นยนต์ L จะใช้แขนกลเก็บผลผลิตได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

ภาพจาก agrist.com

ภาพจาก agrist.com

ภาพจาก agrist.com

 

หุ่นยนต์ L มีน้ำหนัก 16 กิโลกรัม ทำงานได้ต่อเนื่อง 4 ชั่วโมงต่อการชาร์จพลังงาน 1 ครั้ง การเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 ครั้งของหุ่นยนต์จะใช้เวลาประมาณ 28 วินาที และการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์บนสายเคเบิล ทำให้ไม่มีปัญหากับอุปสรรคบนพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นดินโคลน หรือใบไม้ที่ร่วงตามพื้น นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังสามารถตัดกิ่งไม้ที่กีดขวางได้ในระหว่างที่ทำการเก็บเกี่ยว จึงทำให้ประหยัดเวลาไปได้ในตัว

เมื่อทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น ด้วยการเข้ามาทดแทนแรงงานการผลิตซึ่งมีความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ การใช้หุ่นยนต์สำหรับภาคการเกษตรจึงเป็นการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง