โควิด-19 อุปสรรคแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ

เศรษฐกิจ
13 ต.ค. 64
20:26
881
Logo Thai PBS
โควิด-19 อุปสรรคแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ
แม้การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจะเป็นความคาดหวังสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่อีกด้าน แรงงานไทยไม่สามารถไปทำงานต่างประเทศได้ ทำให้สูญเสียรายได้เข้าประเทศหลักแสนล้าน หากเทียบก่อนเกิดโควิด-19 จำนวนแรงงานที่ไทยส่งออกหายไปเกินครึ่ง

แรงงานไทยจำนวนมากรอเดินทางไปทำงานต่างประเทศในเวลานี้ โดยมีทั้งแบบที่ตั้งใจไปหาแหล่งงานที่ได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าในประเทศ แม้แต่คนที่เคยไปมาแล้ว ต้องการกลับไปอีกครั้ง และยิ่งเพิ่มมากขึ้นในตอนนี้ เนื่องจากแรงงานไม่น้อยตกงานเพราะภาวะโควิด-19 ระบาด จึงคาดหวังว่าต่างประเทศจะเป็นความหวังใหม่

มีข้อมูลว่า แรงงานไทยที่อยู่ในต่างประเทศขณะนี้มีอยู่ประมาณ 150,000 คน แต่ละปีส่งเงินกลับมาไทย บางปีเกือบ 200,000 ล้านบาท สำหรับช่วง 9 เดือนของปี 2564 ส่งกลับมาแล้วประมาณ 150,000 ล้านบาท

คนที่ต้องการเดินทางไปหางานในต่างประเทศอย่างน้อยๆ ขณะนี้ที่ค้างอยู่ในระบบศูนย์ทะเบียนหางานในต่างประเทศเกือบ 50,000 คน แต่คนที่ได้เดินทางจริงในภาวะการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเป็นไปได้น้อยมาก ข้อมูลล่าสุดเดือน ก.ย. แรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตเดินทางมีเพียง 1,374 คน และกลุ่ม Re-entry คือครบกำหนดกลับไทยแล้วกลับไปใหม่ 236 คน ทั้งที่ก่อนหน้านี้แต่ละเดือนตัวเลขดังกล่าวจะสูงหลายพันคน และบางเดือนสูงนับหมื่นคน

ก่อนเกิดโควิด-19 ปี 2562 แรงงานที่เดินทางไปหางานในต่างประเทศมีเกือบ 60,000 คน คนที่กลับมาแล้วกลับไปใหม่กว่า 50,000 คน รวมแล้วกว่าแสนคน แต่เมื่อเข้าสู่ยุคโควิด-19 แรงงานเดินทางไปใหม่หายไปครึ่งหนึ่ง ส่วนคนที่ต้องการกลับไปอีกครั้งได้ไปจริงจำนวนน้อยมาก

อุปสรรคมีอยู่หลายอย่าง ทั้งตำแหน่งงานในต่างประเทศประกาศรับน้อยลง แรงงานไทยถูกระงับวีซ่า และถูกสั่งห้ามเดินทางเข้าประเทศ หลังไทยถูกประกาศเป็นประเทศกลุ่มสีแดง มีผู้ติดเชื้อสูง แม้ขณะนี้บางประเทศเริ่มผ่อนปรน แต่ประเทศเป้าหมายที่แรงงานไทยต้องการยังไม่ปลดล็อก รวมทั้งไม่มีแรงงานที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ประเทศปลายทางต้องการ เพราะถูกเพิ่มข้อกำหนดในเรื่องการป้องกันโรคอย่างเข้มข้นจนแรงงานทำไม่ได้

ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย ที่มีเงื่อนไขสำคัญคือการรับวัคซีนครบ ชนิดใดก็ได้ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรอง ซึ่งรวมถึงซิโนแวค ซิโนฟาร์มด้วย แต่ไม่รับรองวัคซีนสูตรไขว้ที่ไทยกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หาคนได้ยาก

ยกตัวอย่างอีกกลุ่มประเทศ เนเธอร์แลนด์ รวมทั้งยุโรปหลายประเทศ แรงงานไทยต้องฉีดวัคซีนครบตามยี่ห้อที่ประเทศปลายทางรับรอง ขณะที่แอสตราเซเนกา รุ่นที่ผลิตในไทยยังไม่ได้รับการอนุมัติ หากใครได้ฉีดต้องใช้วัคซีนที่ผลิตจากประเทศที่ได้รับการรับรองเท่านั้น


ทีมข่าวไทยพีบีเอส เดินทางไปพบกับแรงงานไทยคนหนึ่ง เธอมีเป้าหมายจะเดินทางไปทำงานที่ไต้หวัน แต่ต้องรอนานถึง 6 เดือน ก่อนหน้านี้เธอตกงานจากการเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ หางานใหม่ไม่ได้ ต้องหันมาขายส้มโอในตลาดแทน

ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นชาวสุโขทัย ที่บ้านทำสวนส้มเขียวหวานสีทอง แต่ถูกกดราคาเพราะทั้งโควิด-19 และน้ำแล้ง ขาดทุนขายไม่ได้ ขายของออนไลน์ก็มีกิน แต่ไม่มีเก็บ แถมมีภาระใช้หนี้ ธกส.และภาระอื่นในครอบครัว เธอยื่นเอกสารไป 5 เดือน พอยื่นเอกสาร ตรวจโรคและทำพาสปอร์ต ไต้หวันก็ปิดเมือง

ขณะที่บริษัทจัดหางานบางแห่งก็มีปัญหาสภาพคล่อง เพราะต้องออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและวีซ่าให้แรงงานไปก่อน รวมทั้งค่าใช้จ่ายประจำให้กับพนักงานในบริษัท แต่กลับไม่มีรายได้เข้ามาเป็นเวลานาน และไม่สามารถหารายได้ทางอื่นได้

โควิด-19 ทำให้ไทยเสียโอกาสหลายอย่าง รวมถึงโอกาสการทำงานในต่างประเทศ หากมีระบบการจัดการที่ดีอาจทำให้ไปได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะวัคซีนที่เอื้อต่อการเดินทางไปต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง