ดราม่ายึดมือถือ นร.เข้าข่าย "ยักยอกทรัพย์"

สังคม
14 ต.ค. 64
13:55
1,650
Logo Thai PBS
ดราม่ายึดมือถือ นร.เข้าข่าย "ยักยอกทรัพย์"
"โกศลวัฒน์" รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลเเขวง โพสต์ปมดราม่าครูยึดมือถือนักเรียน อาจเข้าข่ายยักยอกทรัพย์ หลังครูโพสต์คลิปมยึดมือถือนักเรียนไว้ 9 ปีแต่นักเรียนไม่ยอมมารับคืน กระทั่งครู ออกมาโพสต์คลิป ยืนยันคืนมือถือแล้วแต่บางคนไม่มารับ

กรณีครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ จ.เชียงใหม่ อัดคลิปให้นักเรียนมารับมือถือที่ถูกยึดไว้นานหลายปีจนเกิดกระแสดราม่าที่ถูกพูดถึงอย่างเป็นวงกว้าง เมื่อวานนี้ (13 ต.ค.2564) นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง โพสต์เฟซบุ๊ก โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง ว่า "อัยการหนุ่ยเล่าเรื่องคดีแขวง ครูยึดโทรศัพท์มือถือของนักเรียน มีคลิปในติ๊กตอกถามมา อัยการหนุ่ยตอบไป"

นายโกศลวัฒน์ ระบุว่า บางโรงเรียนเคยมีกฎห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าโรงเรียน โรงเรียนประกาศว่าถ้าพบเห็นจะยึดและให้มารับคืนตอนปิดเทอม ซึ่งยาวนานได้ถึง 3 เดือนเรื่องนี้ครูโรงเรียนใหญ่มากๆ ในกทม.เคยโทรมาปรึกษาเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว โรงเรียนยึดโทรศัพท์มือถือ จากนักเรียนเพราะมีระเบียบห้ามนักเรียนเอาโทรศัพท์เข้าโรงเรียน

เข้าใจได้ว่าในยุค 10 ปีที่แล้วโทรศัพท์ไม่สามารถเล่นโซเชียลได้เหมือนวันนี้ด้วยซ้ำ และย้อนไปนะครับโรงเรียนใหญ่ โรงเรียนดัง มากเท่าไหร่รถยิ่งติดมากเท่านั้น เวลาผู้ปกครองไปรับบุตรหลาน มักไม่มีที่จอดรถใช้วิธีวนรถไปรับหน้าโรงเรียน หลายคนจึงเอาโทรศัพท์มือถือ ให้บุตรหลานเพื่อโทรนัดแนะให้ออกมาที่หน้าโรงเรียนโดยไม่ต้องมายืนรออย่างไม่รู้ว่ารถจะมาถึงตอนไหน

จราจรในกทม.ใครก็รู้ว่ารถติดอาจมาช้าได้เป็นชั่วโมง โดยเฉพาะเวลาโรงเรียนเลิกหรืองานเลิก พ่อแม่ที่รักลูก ก็จะเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกถ้าต้องออกมารอนอกโรงเรียน ก็มักจะบอกว่า เอาโทรศัพท์ให้ลูกเพื่อจะได้โทรให้มาขึ้นรถโดยลูกไม่ต้องมาอยู่นอกโรงเรียน หรือรอที่หน้าโรงเรียนเป็นห่วงลูกให้ลูกรอ ผู้ปกครองมารับให้อยู่แต่ในโรงเรียน ครูพบเห็นโทรศัพท์ก็ยึดตามระเบียบโรงเรียน

ปัญหาคือระเบียบของโรงเรียน แม้ผู้ปกครองจะเคยตกลงด้วย แต่ระเบียบไม่ได้ใหญ่กว่ากฎหมายอาญา โดยเฉพาะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจครูในการไปยึดทรัพย์ของเด็ก แล้วไม่คืนให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กนักเรียนยังทำมาหากินไม่ได้เงินที่ซื้อโทรศัพท์มาเป็นของผู้ปกครองแน่ๆ

เคยแนะนำครูว่าระวังผู้ปกครองเด็กอาจจะไปแจ้งความว่า ยักยอกทรัพย์ของเด็ก หรือของผู้ปกครองจะมีผลไปถึงการกล่าวหาครูเป็นคดีอาญาได้ ไม่ว่าจะเป็นลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์แล้วแต่พฤติการณ์

 

แนะให้คืนโทรศัพท์ผู้ปกครอง

นายโกศลวัฒน์ ระบุว่า แนะนำว่าถ้าผู้ปกครองมาทวงคืนก็ควรคืนให้ผู้ปกครองไป อาจจะยึดไว้ยาวนานจนปิดเทอม อาจมีปัญหาใหญ่ตามมา บางโรงเรียน ก็มีทางออก คือพอเด็กมาโรงเรียนแล้วให้ทุกคนเอาโทรศัพท์มือถือมาใส่ไว้ในตะกร้าหน้าห้องเรียน เลิกเรียนแล้วจึงค่อยมาเอาโทรศัพท์คืนไปเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กโทรศัพท์ในระหว่างเรียน

ปัญหาคือ กฎหมายใหญ่กว่าระเบียบของโรงเรียน ระเบียบของบริษัท ไม่ได้ใหญ่กว่ากฎหมาย เพราะระเบียบของโรงเรียนหรือระเบียบของบริษัทคงใช้ได้เฉพาะในบริษัท ในโรงเรียนเท่านั้น

 

ชี้เข้าข่ายยักยอกทรัพย์ตาม ม.352  

นายโกศลวัฒน์ ระบุอีกว่า แต่กฎหมายเป็นระเบียบของสังคมโดยรวมเป็นกติกาของสังคมโดยรวม ซึ่งมีโทษทางอาญาด้วยการอ้างทำตามระเบียบถ้าผิดกฎหมาย ถูกแจ้งความดำเนินคดี ระเบียบช่วยคุณไม่ได้ อาจติดคุกเพราะระเบียบของคุณเอง มันขัดกฏหมายมาเยอะแล้วไปติดต่องานหลายที่ชอบอ้างระเบียบ ที่มันฝ่าฝืนกฎหมายเพราะเอามาใช้กับคนภายนอกไม่ได้ ระวังจะถูกแจ้งความดำเนินคดี

ต่อไปไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือบริษัทห้างร้าน ระเบียบมีไว้ใช้กับคนในโรงเรียนหรือในบริษัท แต่คงใช้กับคนภายนอกกับสังคมโดยรวมไม่ได้ สังคมโดยรวมต้องใช้กฎหมายเท่านั้น

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต

ขณะที่ น.ส.นิชนันท์ สิงห์บัว ครูสอนภาษาไทยโรงเรียนฮอดพิทยาคม จ.เชียงใหม่ ระบุว่าคลิปดังกล่าวเป็นการเปิดกรุรื้อสมบัติฝ่ายกิจการโรงเรียน และพบว่ามีโทรศัพท์มือถือของเด็กนักเรียนรุ่นก่อนๆ ถูกยึดมาตั้งแต่ปี 2555 หรือ 9 ปีก่อน 

ปกติหลังยึดมือถือ จะแจ้งผู้ปกครองให้มารับคืน แต่บอกให้ผู้ปกครองทราบ จึงต้องทิ้งโทรศัพท์เอาไว้ โรงเรียนก็ยังเก็บไว้ที่เดิมเป็นอย่างดี ขณะนี้มี 8-9 เครื่อง ยังไม่มีใครติดต่อกลับมารับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง