เช็กอาการ "แพนิก" โรคใกล้ตัว รู้เร็ว รักษาก่อน

สังคม
14 ต.ค. 64
16:02
1,316
Logo Thai PBS
เช็กอาการ "แพนิก" โรคใกล้ตัว รู้เร็ว รักษาก่อน
ใจสั่น เหงื่อออกมาก หายใจถี่ รู้สึกกลัวไปทุกอย่าง นี่คืออาการของ "โรคแพนิก" แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง หรืออันตรายถึงชีวิต แต่การรักษาโดยเร็วก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อไม่ให้โรคนี้กระทบชีวิตประจำวันได้

จากกรณีพิธีกรชื่อดังเคยเป็นโรคแพนิกไม่ออกจากบ้านถึง 1 ปี และเกือบเป็นโรคซึมเศร้า เพราะเครียดจากสถานการณ์ COVID-19 ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนมารู้จักโรค โรคแพนิก (Panic disorder) หรือโรคตื่นตระหนกเป็นโรควิตกกังวลที่มีอาการตกใจกลัวอย่างกะทันหันและรุนแรงทั้งที่ไม่ได้เผชิญกับเหตุการณ์หรือ สถานการณ์ที่อันตราย

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ ระบุว่า โรคแพนิกสามารถพบได้ถึงร้อยละ 3 – 5 ในประชากรทั่วไป คนส่วนใหญ่จะเคยมีอาการแพนิกหนึ่งหรือสองครั้งในชีวิต ซึ่งความถี่ในการเกิดอาการแพนิกอาจแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่มีอาการหลาย ๆ ครั้งต่อวันไปจนกระทั่งมีอาการเพียงไม่กี่ครั้งต่อปี

ผู้ป่วยโรคนี้จะรู้สึกทุกข์ทรมานในการดำเนินชีวิตประจำวันเนื่องจากมีความวิตกกังวลตลอดเวลาว่าจะมีอาการเกิดขึ้นอีกเมื่อไร บางคนต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหรือการงานที่เคยทำประจำและเกิดความทุกข์ใจอย่างมากที่ไม่อาจดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขได้ดังเดิม แต่ความจริงแล้วยังมีวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและหายได้

สาเหตุของโรคแพนิก ?

ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคแพนิก จากการวิจัยพบว่าโรคแพนิกอาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ โดยถ้าเป็นญาติสายตรงจะพบประมาณร้อยละ 43 นอกจากนี้ ยังอาจเกี่ยวข้องกับการมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ ในชีวิตเกิดขึ้น ทำให้เกิดความเครียดและนำไปสู่การเกิดอาการของโรคแพนิก เช่น การต้องจากไกลบ้านเพื่อไปศึกษาต่อ การแต่งงานหรือการมีลูกคนแรก ฯลฯ

เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายขณะที่มีอาการแพนิก ?

ขณะมีอาการแพนิกร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ คือสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ที่เรียกว่า“อะมิกดาลา” ( Amygdala ) รับรู้ว่ามีอันตรายเกิดขึ้นจะส่งสัญญาณไปที่ระบบประสาทอัตโนมัติ ที่เรียกว่าซิมพาเทติก (Sympathetic) ซึ่งจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้มีการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลิน (Adrenaline) ซึ่งเป็นหนึ่งในฮอร์โมนที่มีหน้าที่ในการปกป้องเราจากอันตราย ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นเหตุให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา

อาการของโรคแพนิก ?

  • ใจสั่น ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก
  • เหงื่อออกมาก หนาวๆ ร้อนๆ
  • หายใจถี่ หายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม
  • วิงเวียน โคลงเคลง รู้สึกตัวลอย คล้ายจะเป็นลม
  • รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะกลัวตาย
  • ควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้

เมื่อมีลักษณะอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น และสงสัยว่าอาจเป็นโรคแพนิค สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกคือการไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด แม้ว่าโรคแพนิคจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของโรคนั้นไปสัมพันธ์คล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน

การรักษาโรคแพนิก

โรคแพนิค (Panic disorder) ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง หรือทำให้มีอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้เกิดความกังวลกับผู้ที่เป็น และต้องรักษาหากกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้โดยปกติ ซึ่งการรักษาแบ่งออกเป็น 2 วิธี ซึ่งการรักษาที่ได้ผลดีและตรงกับสาเหตุก็คือการรับประทานยา เพื่อช่วยปรับสมดุลการทำงานของสารเคมีในสมองดังกล่าว อาการเหล่านี้ก็จะหายไปได้ นอกจากนี้การดูแลจัดการกับตัวเองเมื่อมีอาการก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

การรักษาด้วยยา

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมองเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคแพนิค ดังนั้นการรับประทานยา เพื่อไปปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองจึงมีความจำเป็น และใช้เวลาในการรักษาประมาณ 8-12 เดือน โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคของแต่ละบุคคล จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นโรคนี้ สามารถหายขาดได้

การรักษาทางใจ

คือการทำจิตบำบัดประเภทปรับความคิดและพฤติกรรม ซึ่งมีหลายวิธี เช่น ฝึกหายใจในผู้ป่วยที่มีอาการหายใจไม่อิ่ม หายใจเข้า – ออกลึก ๆ ช้า ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการ โดยหายใจเข้าให้ท้องป่องและหายใจออกให้ท้องยุบในจังหวะที่ช้า ซึ่งจะทำให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัว หลังจากนั้นร่างกายจะเริ่มผ่อนคลายและอาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเอง

นอกจากนี้ ยังต้องรู้เท่าทันอารมณ์ของตน ตั้งสติ บอกกับตัวเองว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นแค่เรื่องชั่วคราว สามารถหายได้และไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต มีการฝึกการคลายกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่มีอาการปวดศรีษะ หรือปวดตึงกล้ามเนื้อ รวมถึงการฝึกสมาธิ และการฝึกคิดในทางบวก

ทั้งนี้ โรคแพนิกเป็นโรคที่น่ากลัวสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ บางคนบอกว่าเป็นโรคที่น่ารำคาญมากทีเดียว แต่ถ้าดูแลรักษาถูกต้องแล้ว ผู้ป่วยก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเช่นเดียวกับผู้อื่นในสังคม

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์โรงพยาบาลเปาโลpraram9

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง