กมธ.ดีอีเอส เตรียมเชิญ "ส.ธนาคารฯ-ธปท." ชี้แจงปมแอปฯ ดูดเงิน

เศรษฐกิจ
19 ต.ค. 64
09:40
1,145
Logo Thai PBS
กมธ.ดีอีเอส เตรียมเชิญ "ส.ธนาคารฯ-ธปท." ชี้แจงปมแอปฯ ดูดเงิน
"กัลยา" เผย กมธ.ดีอีเอส เตรียมเชิญสมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีประชาชนโดนแอปฯ ดูดเงิน ชี้ ต้องอุดช่องโหว่ให้ได้ ขณะที่ "เศรษฐพงค์" แนะรวบหน่วยงานแก้โกงดูดเงินบัตรเครดิต ระบุลดทอนความเดือดร้อนประชาชนโดยเร็วสำคัญที่สุด

วันนี้ (19 ต.ค.2564) จากกรณีที่มีประชาชนหลายคนเจอปัญหาจากแอปฯ ที่มีการผูกกับบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต และบัตรเดบิต ที่พบยอดเงินถูกหักโดยไม่ทราบสาเหตุ

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ จะนำประเด็นดังกล่าวหารือในที่ประชุม กมธ.

 

เพื่อขออนุมัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือสมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงรายละเอียดในการประชุมครั้งถัดไป

เพื่อต้องการทราบว่าตามระเบียบหรือกฎที่เกี่ยวข้องสามารถปกป้องหรืออุดช่องว่างไม่ให้ประชาชนถูกเอาเปรียบหรือถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพได้หรือไม่ และหากมีช่องโหว่จะปรับปรุงกติกาอย่างไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ และในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หากประชาชนยังถูกหลอกด้วยเทคโนโลยีอีกเท่ากับถูกซ้ำเติม

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก รวมถึงกระทบกับประชาชนจำนวนมาก และมีผู้ที่ร้องเรียนให้หน่วยงาน และสื่อมวลชนช่วยตรวจสอบ

น.ส.กัลยา กล่าวว่า กมธ.ดีอีเอส ไม่ต้องการให้เกิดการหลอกลวงผ่านเทคโนโลยีขยายวงกว้าง ซึ่งการใช้แอปพลิเคชันที่ผูกกับบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต แม้ว่าจะสามารถหักเงินจากบัญชีเจ้าของได้โดยตรง แต่ควรมีรายละเอียดที่เจ้าของบัตรต้องอนุมัติก่อน ไม่ใช่ถูกหักไปโดยไม่รู้ตัว

ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า เรื่องทำนองเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แน่นอนว่าเรามีระบบป้องกัน แต่ต้องยอมรับว่าการป้องกันไม่สามารถทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเทคโนโลยีและรูปแบบการโกงจะพัฒนาไปเรื่อยๆ

 

ซึ่งองค์กรที่ดูแลเงินก็พยายามที่จะพัฒนาระบบป้องกันอยู่ตลอดเช่นกัน แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญคือการคืนเงินให้เร็วที่สุดควรพิจารณาเป็นอันดับแรก ต้องลดทอนความเสียหายของประชาชนให้เร็วที่สุด

ส่วนการร้องเรียนของประชาชนจะต้องทำให้จบได้ในจุดเดียว ต้องมีหน่วยงานที่ชัดเจนในการรับเรื่อง ซึ่งจะต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาทำงานร่วมกัน ไม่ต้องให้ประชาชนวิ่งไปแจ้งตำรวจแล้วต้องไปธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วต้องไปธนาคารที่มีบัญชี

ทั้งนี้ ที่เป็นอย่างนี้ เนื่องจากเรายังไม่มีแผนบริหารจัดการปัญหาที่รวบทุกหน่วยงานเข้าไว้ด้วยกัน สิ่งที่ควารจะเกิดขึ้นคือ เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ประชาชนสามารถขึ้นสถานีตำรวจแจ้งความเพียงครั้งเดียวแล้วกลับบ้าน

ส่วนที่เหลือจะเป็นการจัดการภายในที่ภาครัฐจะประสานข้อมูลกันเอง เมื่อรับแจ้งความแล้วจะใช้เวลากี่ชั่วโมง กี่วัน ต้องแจ้งให้ประชาชนทราบแล้วต้องทำให้ได้ตามนั้น

ปัญหาที่เราแก้ไม่ตกคือ เรามีหน่วยงานเต็มไปหมดที่จะทำเรื่องนี้ แต่ละส่วนทำอย่างละนิดอย่างละหน่อย แต่ปล่อยให้ประชาชนเดินเรื่องเอง มันไม่เวิร์ก

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า เราต้องมีกลไกที่จะทำให้เมื่อประชาชนแจ้งว่าถูกหลอกลวงแล้ว ต้องไปหยุดการเอาเงินออกจากบัญชีให้เร็วที่สุด ภายในไม่กี่ชั่วโมงทำได้หรือไม่ แนวทางนี้เหมือนไม้เสียบลูกชิ้น ที่หน่วยงานต่างๆ คือลูกชิ้นที่กระจัดกระจายอยู่

เราต้องเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนมาเสียบอยู่ในไม้เดียวกัน เช่น กสทช. ก.ดีอีเอส สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการมือถือ ธปท. ตำรวจ ปอท. ฯลฯ แล้วทำงานประสานกัน เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ตร.ระบุเลิกใช้ OTP ขณะทำธุรกรรม เปิดช่องมิจฉาชีพดูดเงินผ่านแอปฯ 

"ชัยวุฒิ" เสนอออก ก.ม.กำหนดยืนยันตัวตน Two Factor หักบัญชีออนไลน์

เช็กเงินในบัญชีหรือยัง? ตำรวจแนะนำป้องกันเงินล่องหน

ธปท.ชี้แจงเงินหายจากบัญชี เกิดจากทำธุรกรรมในต่างประเทศ

นายกฯ สั่งตรวจสอบแล้ว ดูดเงินออกจากบัญชีปริศนา!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง