17 แห่งอนุญาตเพาะงูเหลือม-หลามได้ "แต่ห้ามกิน"

สิ่งแวดล้อม
20 ต.ค. 64
17:16
7,686
Logo Thai PBS
17 แห่งอนุญาตเพาะงูเหลือม-หลามได้ "แต่ห้ามกิน"
กรมอุทยานฯชี้อนุญาตเพาะเลี้ยงงู 17 แห่ง ภาคเหนือมากสุด 6 แห่ง ขอเพาะเลี้ยงงูเหลือม งูหลามขายเพื่อความสวยงาม แปรรูปผลิตภัณฑ์หนัง ไม่อนุญาตให้กิน เตือนปล่อยงูเลี้ยงอ้างทิ้ง จำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนจับงูตามบ้านเฉลี่ยปีละ 1,000 ตัว

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายสมปอง ทองสีเข้ม ผอ.สำนักอนุรักษ์าสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เกี่ยวกับสถานการณ์งูในฟาร์มเลี้ยงงู ที่การอนุญาตให้ครอบครอง เพาะพันธุ์และค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ ซากของสัตว์ป่าภายใต้มาตรา 18 มาตรา 28 และมาตรา 30  พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 กรณีที่ขออนุญาตครอบครองเพื่อค้า พบว่าจะเป็นชนิดงูหลาม งูเหลือม 14 ราย และชนิดงูสิงหางลาย 1  ราย โดยงูเหลือม งูหลามเป็นชนิดพันธุ์ที่ขออนุญาตมากที่สุด

ปัจจุบันมีการสถานที่ ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงงูหรือเพาะพันธุ์หรือค้า ในไทย 17 แห่งในพื้นที่รับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ พบว่าภาคเหนือเลี้ยงมากที่สุด ดังต่อไปนี้

  • สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า มีจำนวน 8 แห่ง งูหลาม  672 ตัว งูเหลือม 798 ตัว
  • สบอ. 1 (สาขาสระบุรี) มีจำนวน 2 แห่ง งูหลาม  9 ตัว งูเหลือม 172 ตัว
  • สบอ. 8 (ขอนแก่น) มีจำนวน 1 แห่ง งูหลาม  2 ตัว
  • สบอ. 11 (พิษณุโลก) มีจำนวน 1 แห่ง งูหลาม 8,113 ตัว งูเหลือม 5,416 ตัว
  • สบอ. 12 (นครสวรรค์) จำนวน 1 แห่ง งูหลาม 8 ตัว
  • สบอ. 14 (ตาก) จำนวน 1 แห่ง งูหลาม  3,111 ตัว งูเหลือม 1,137 ตัว
  • สบอ. 15 (เชียงราย) จำนวน 1 แห่ง งูสิงหางลาย 58 ตัว
  • สบอ. 16 (เชียงใหม่) จำนวน 2 แห่ง งูหลาม  10 ตัว

การอนุญาตให้เพาะเลี้ยงส่วนใหญ่นำไปทำอะไร? 

นายสมปอง ระบุว่า ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอ และออกใบอนุญาตในการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง การครอบครองและการนำเคลื่อนที่ เพื่อการค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง และซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง และการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง และผลิตภัณฑ์ทำจากซากสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2551 กำหนดเกี่ยวกับการจำหน่ายซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อบริโภค ในข้อ 22

เมื่อผู้รับใบอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ จำหน่ายสัตว์ป่าค้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองให้แก่บุคคลใด ให้ผู้รับใบอนุญาตค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ ออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้แก่บุคคลทุกครั้งที่มีการจำหน่าย เว้นแต่เป็นการจำหน่ายซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อนำไปบริโภค 

ความหมายตามกฎหมาย คือ สำหรับการบริโภคผู้ค้าจะต้องจำหน่ายซากเท่านั้น เพื่อผู้ซื้อนำไปบริโภค และผู้ค้าไม่ต้องออกหนังสือกำกับการจำหน่ายซากสัตว์ป่าคุ้มครองให้แก่ผู้บริโภค

จากการตรวจสอบพบว่า การขออนุญาตส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่าย เป็นงูสวยงาม หรือนำหนังมาทำผลิตภัณฑ์

เศรษฐกิจไม่ดี ขายงูไม่ได้ปล่อยงู ผิดกฎหมายหรือไม่

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ระบุว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ.2562 กฎหมายห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งหรือปล่อยเป็นอิสระซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือสัตว์ป่าควบคุม หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์ป่านั้นพ้นจากการดูแลของตน โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

งูที่อนุญาตให้เพาะเลี้ยงมีกี่ชนิด จากการเพาะพันธุ์

สำหรับงูชนิดที่กำหนดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มี 14 ชนิด คือ สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ งูเขียวกาบหมาก งูจงอาง  งูทางมะพร้าวเขียว งูทางมะพร้าวดำ หรืองูทางมะพร้าวมลายู หรืองูหลุนชุน งูทางมะพร้าวแดง  งูทางมะพร้าวลายขีด  งูทางมะพร้าวหางดำ หรืองูใบ้ หรืองูทางมะพร้าวถ้ำ  งูสิง งูสิงหางดำ งูสิงหางลาย หรืองูสิงลาย งูแสงอาทิตย์  งูหลาม งูหลามปากเป็ด งูเหลือม

สำหรับชนิดงูที่กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้มี 4 ชนิด คือ สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน งูสิง งูสิงหางลาย หรืองูสิงลาย งูหลาม งูเหลือม

งูที่ อปพร.นำมาส่งที่คลินิกสัตว์ป่า เฉลี่ยเดือนละกี่ตัว 

ชนิดงูที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำส่งคลินิกสัตว์ป่าพบว่ามีเฉลี่ยประมาณ 900-1,000 ตัวเดือน ส่วนใหญ่เป็นงูเหลือมประมาณ 90% นอกจากนี้จะเป็นงูเขียว งูเขียวพระอิน งูสิง งูทางมะพร้าว งูหัวกะโหลก
งูแสงอาทิตย์ งูสายสอ งูหลาม งูก้นกบ งูสายรุ้งลาย งูปีแก้ว งูปล้องทอง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างรับบริจาคเงิน 3 แสนไถ่งูท้อง 500 ชีวิต ปล่อยป่า "เชียงดาว"

เลิกรับบริจาค ซื้อชีวิตงูท้อง 500 ตัวไปปล่อย จี้ พศ.สอบบัญชีแม่ชี

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง