ศิษย์เก่าเสียใจ หลัง ร.ร.อำนวยศิลป์ธนบุรี ประกาศปิดกิจการ

สังคม
21 ต.ค. 64
13:19
4,488
Logo Thai PBS
ศิษย์เก่าเสียใจ หลัง ร.ร.อำนวยศิลป์ธนบุรี ประกาศปิดกิจการ
ศิษย์เก่าของโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี เสียใจและตกใจกับประกาศปิดกิจการของโรงเรียน ระบุศิษย์เก่าเป็นนักธุกิจที่ประสบความสำเร็จ และยังเป็นผู้บริหารประเทศหลายคน สำหรับสาเหตุปิดกิจการคือขาดสภาพคล่องและการแพร่ระบาดของโควิด-19

วันนี้ (21 ต.ค.2564) ศิษย์เก่าของโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี หลังเห็นประกาศปิดกิจการของโรงเรียน ต่างมาร่วมแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก กลุ่มชมรมนักเรียนเก่าอำนวยศิลป์ ธนบุรี (เราคือตำนานขาสั้น ฝั่งธนบุรี) ว่ารู้สึกเสียใจและตกใจกับการประกาศของโรงเรียน ส่วนใหญ่ระบุว่า ในฐานะศิษย์เก่าจะระลึกและเก็บโรงเรียนไว้ในใจตลอดไป

ศิษย์เก่าบางคนโพสต์ว่า ศิษย์เก่าของโรงเรียนได้เป็นผู้บริหารประเทศมีหลายคน มีทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้บัญชาการกองทัพ และเป็นนักธุกิจที่ประสบความสำเร็จ 

ออกประกาศปิดกิจการ 2 ฉบับ

โรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี ได้ออกหนังสือถึงนักเรียนและผู้ปกครอง 2 ฉบับ

ฉบับที่ 1 คือ วันที่ 15 ต.ค.2564 เรื่องการปิดสถานศึกษา/เลิกกิจการโรงเรียน ณ สิ้นปีการศึกษา 2564 เนื้อหาระบุว่า

โรงเรียนมีความเสียใจที่จะแจ้งให้ทราบว่า คณะกรรมการบริหารโรงเรียนอํานวยศิลป์ธนบุรี เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2554 ได้พิจารณาและมีมติที่จะปิดสถานศึกษา ณ สิ้นปีการศึกษา 2554

เนื่องจากโรงเรียนประสบการขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง และยังมาประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยาวนานกว่าที่คาดคิด โรงเรียนจึงยิ่งประสบปัญหาสภาพคล่อง ถึงแม้จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากมูลนิธิอํานวยศิลป์มาตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ตาม จึงจําเป็นต้องยุติการดำเนินการของโรงเรียบลง ณ สิ้นเดือน เม.ย.2565 

 

ฉบับที่ 2 คือ วันที่ 16 ต.ค.2564 เนื้อหาระบุว่า

โรงเรียนมีความเสียใจที่จะแจ้งให้ทราบว่า คณะกรรมการบริหารโรงเรียนอํานวยศิลป์ธนบุรี เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2564 ได้พิจารณาและมีมติที่จะปิดสถานศึกษา ณ สิ้นปีการศึกษา 2554 (สิ้นเดือน เม.ย.2565) เนื่องจากโรงเรียนประสบการขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง

และยิ่งมาประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยาวนานกว่าที่คาดคิด โรงเรียนจึงยิ่งประสบปัญหาสภาพคล่อง ถึงแม้จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากมูลนิธิอํานวยศิลป์มาตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ตาม

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ปกครองที่ให้ความไว้วางใจและสนับสนุนโรงเรียนตลอดเวลาที่ผ่านมา โรงเรียนจึงพิจารณาคืนเงินค่าแรกเข้า ที่จ่ายให้โรงเรียนและเงินบริจาคที่มอบให้แก่มูลนิธิอํานวยศิลป์ จิตร - เอิบ ทังสุบุตร ให้ตามที่ได้จ่ายจริง

โดยจะทําการคิดเป็นส่วนลดของคําเทอมของภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2564 นี้ เว้นแต่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในการนี้ฝ่ายบัญชีจะทําหนังสือแจ้งรายละเอียดแก่ผู้ปกครองแต่ละท่านเป็นรายบุคคลอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ โรงเรียนได้ทําการสํารวจข้อมูลเบื้องต้นของโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้พิจารณาตามเอกสารแนบ โรงเรียนพร้อมให้ความช่วยเหลือในการประสานงานกับโรงเรียนที่ผู้ปกครองสนใจหรือหาข้อมูลของโรงเรียนอื่นเพิ่มเติม

ประวัติโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี 

ก่อตั้ง พ.ศ.2482 มูลเหตุที่ได้จัดตั้งโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี เนื่องจากมีผู้ปกครองนำนักเรียนมาขอสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ปากคลองตลาดจังหวัดพระนครเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งทางโรงเรียนไม่สามารถสนองความต้องการได้ เพราะสถานที่จำกัดขยายออกไปไม่ได้อีก ประจวบด้วยสมัยนั้น ทางรัฐบาลมีโครงการตัดถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเข้ามาในแนวโรงเรียนต้องเสียห้องเรียนไปจำนวน 12 ห้องเรียน

อ.จิตร ทังสุบุตร เจ้าของและผู้จัดการโรงเรียนอำนวยศิลป์ จึงพิจารณาจัดหาสถานที่สร้างโรงเรียนแห่งใหม่ เพื่อให้นักเรียนมีสถานที่เล่าเรียน พอดีระยะนั้นโรงเรียนหวงหวน ตั้งอยู่ที่เลขที่ 2814 ฐ ถนนสมเด็ดเจ้าพระยาติดถนนท่าดินแดง ต.ตรอกสารภี กิ่ง อ.คลองสาน ของโรงเรียนเดิม และเช่าที่ดินติดกับบริษัท จันทบุรีพาณิชย์ จำกัด ซึ่งอยู่ในความดูแลของพระยามไหสวรรค์สมบัติศิริ เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนใหม่

โดยกระทรวงศึกษาธิการวางหลักเกณฑ์ไว้ว่า เจ้าของและผู้จัดการ ครู นักเรียนจะต้องเป็นชุดเดียวกันจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ และอนุญาตให้เปิดสอนได้ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งยังกำหนดคุณสมบัติของครูใหญ่ไว้เป็นพิเศษ

 

ด้วยเหตุดังกล่าวโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี จึงได้รับการรองรับวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล ทันทีที่เริ่มการเปิดสอน พร้อมกับโรงเรียนอำนวยศิลป์ที่ตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2469 และได้รับรองวิทยฐานะ เมื่อ พ.ศ.2475 นับว่าเป็นโรงเรียนราษฏร์แห่งแรกในจังหวัดธนบุรีที่ได้รับการรับรอง

โรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรีได้รับใบอนุญาตจัดตั้งเลขที่ 82/2482 วันที่ 5 ธ.ค.2482 ได้โอนนักเรียนที่สมัครใจจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ซึ่งมีภูมิลำเลาในจังหวัดธนบุรี ใกล้กับโรงเรียนจำนวน 189 คน ครูและเจ้าหน้าที่ รวม 15 คน เปิดทำการสอนวันแรกเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2482 ได้นิมนต์พระคุณเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี เป็นประธานเจิมป้าย เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2482

ท่านผู้บริหารพร้อมคณะอาจารย์ ครู ได้พยายามพัฒนาปรับปรุงอาคารสถานที่ให้ถูกสุขลักษณะและเพียงพอต่อการขยายตัวของโรงเรียน ตลอดจนมาตรฐานการเล่าเรียนของนักเรียนก็อยู่ในระดับดี เป็นที่ไว้วางใจของผู้ปกครองนักเรียน ได้เป็นสถานศึกษาที่ใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดธนบุรี และเมื่อ พ.ศ. 2489 ได้ขยายชั้นเรียนทำการสอนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้รับนักเรียนได้ 47 ห้องเรียน รับนักเรียนได้ 2,185 คน ตามใบอนุญาตแบบ ร.12 เลขที่ 1181/2504 ลงวันที่ 14 ต.ค.2504

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง