“รัสเซล โครว์” ชมน้ำใจคนไทย ติดใจพะแนง-ข้าวซอย

Logo Thai PBS
“รัสเซล โครว์” ชมน้ำใจคนไทย ติดใจพะแนง-ข้าวซอย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“รัสเซล โครว์” นักแสดงระดับโลก ชื่นชมน้ำใจมิตรไมตรีคนไทย แหล่งท่องเที่ยว และวัฒนธรรม ติดใจอาหารแกงพะแนง-ข้าวซอย แนะเพิ่มป้ายบอกทางภาษาอังกฤษ

วันนี้ (24 ต.ค.2564) นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้แสดงความขอบคุณและพบปะพูดคุยกับ "รัสเซล โครว์" นักแสดงชาวนิวซีแลนด์-ออสเตรเลียที่ มีชื่อเสียงระดับโลก เจ้าของรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ เรื่อง Gladiator ในปี ค.ศ.2000 ที่โรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา

การพบปะดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่อง "Soft Power”ความเป็นไทย โดยรัสเซล โครว์ ที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ “Beer Run” ช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.2564 ได้กล่าวแสดงความชื่นชมและบอกเล่าถึงประทับใจในความเป็นไทย ทั้งในเรื่องของเมืองไทยที่มีความงดงามด้วยศิลปะและวัฒนธรรมไทย นิสัยและความมีน้ำใจมิตรไมตรีของคนไทย แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเหมาะแก่การมาท่องเที่ยวพักผ่อน

 

รัสเซล โครว์ ได้เดินทางไปท่องเที่ยวทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติใน จ.ภูเก็ต, บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ พร้อมกล่าวอยากให้เพิ่มป้ายบอกทางภาษาอังกฤษในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ และชื่นชอบอาหารไทย เช่น แกงพะแนง แกงเผ็ด ผัดไทย และชื่นชอบข้าวซอยเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันได้ชื่นชมกองถ่ายภาพยนตร์ไทย เป็นทีมงานที่มีฝีมือและมีคุณภาพ

รมว.วธ. กล่าวอีกว่า ได้กล่าวขอบคุณรัสเซล โครว์ที่ถ่ายทอดความประทับใจเกี่ยวกับ "Soft Power”ความเป็นไทย นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่นักแสดงระดับโลกชื่นชมความเป็นไทยทั้งในด้านวัฒนธรรม ศิลปะ แหล่งทางวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อาหารไทยและภาพยนตร์ไทย ทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและอาหารไทยได้รับการเผยแพร่ไปสู่นานาชาติมากยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ วธ.จะนำข้อคิดเห็นที่ได้รับมาปรับใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและนโยบายผลักดันการใช้ "Soft Power” ความเป็นไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของไทยใน 15 สาขา เช่น ภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง แฟชั่น อาหารไทย และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม รวมถึงนโยบาย วธ.ในการนำคุณค่าของวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และการอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) รวมถึงยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 - 2564) โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในประเทศไทย โดยร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติเข้ามาถ่ายทำในไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศอย่างยั่งยืน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง