รู้จัก “พระเกี้ยว” สัญลักษณ์จุฬาฯ-ย้อนความเป็นมาขบวนอัญเชิญ

สังคม
25 ต.ค. 64
08:20
3,754
Logo Thai PBS
รู้จัก  “พระเกี้ยว” สัญลักษณ์จุฬาฯ-ย้อนความเป็นมาขบวนอัญเชิญ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ชวนทำความรู้จัก "พระเกี้ยว" และย้อนความเป็นมาขบวนอัญเชิญ “พระเกี้ยว” หลังกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ มีมติเห็นควรให้ยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

หลังกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ มีมติ 29 : 0 ในการประชุมสามัญครั้งที่ 1/2564 ของคณะกรรมการบริหารฯ เห็นควรให้ยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนมาทำความรู้จักความสำคัญและประวัติของขบวนอัญเชิญ “พระเกี้ยว” 

(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : กก.สโมสรนิสิตจุฬาฯ มีมติให้ยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีฯ)

ขบวนพาเหรดในพิธีเปิด งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ทุกปีนั้น เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างมากในทุก ๆ ครั้ง ส่วนหนึ่งในขบวนที่สามารถดึงดูดผู้ชมได้ก็คือ ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว และตราธรรมจักร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยทั้งสองสถาบัน ซึ่งในแต่ละปีแต่ละสถาบันจะจัดขบวนอัญเชิญได้สวยงามไม่แพ้กัน

สำหรับการอัญเชิญตราสัญลักษณ์ เข้ามาในขบวนพาเหรดของงานฟุตบอลประเพณีฯ ที่เก่าแก่ที่สุด จากหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธ.ค.2507 มีผู้อัญเชิญเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน

การอัญเชิญตราสัญลักษณ์เข้ามาในสนามแข่งขันนั้นเหมือนเป็นการเปิดงาน ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการอัญเชิญตราพระเกี้ยว ทางธรรมศาสตร์จะต้องมีตราธรรมจักร ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวเปรียบดังทุกสิ่งที่เป็นสถานศึกษาแห่งนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องอัญเชิญเข้ามาในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การอัญเชิญตราพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย เข้ามาในงาน และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและเหล่ากองเชียร์ ดังประโยคที่ดังก้องอยู่ในใจชาวจุฬาฯ ทุกคนว่า "สีชมพูจักอยู่ในกายเจ้า พระเกี้ยวเกล้าจักอยู่เป็นคู่ขวัญ"

ในความจริงแล้ว นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคน มีฐานะเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว เนื่องจากเป็นผู้ใช้พระเกี้ยวเป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันการศึกษา แต่ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ไม่สามารถให้นิสิตจุฬาฯ ทุกคนขึ้นอัญเชิญพระเกี้ยวได้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดเลือกนิสิตจุฬาฯ ที่มีความเหมาะสม มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งรูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ การวางตัว กิริยา มารยาท ผลการเรียน ตลอดจนมีความรู้เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีความรู้รอบเหมาะสมกับการเป็นตัวแทนนิสิตจุฬาฯ ซึ่งนิสิตที่ทำหน้าที่อัญเชิญพระเกี้ยวนี้ ถือได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

ในสมัยก่อนจำนวนผู้อัญเชิญพระเกี้ยวมีตั้งแต่เป็นนิสิตผู้หญิงคนเดียว นิสิต 2 คน นิสิตหญิง-ชาย 2 คู่ มาจนถึงในปัจจุบันที่เป็นนิสิตหญิง-ชาย เพียงคู่เดียว บางปีคัดเลือกจากตัวแทนของคณะ มีการสัมภาษณ์จากอาจารย์ ซึ่งก็รู้ได้ในวันนั้นว่าใครได้เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ในบางปีมีการคัดเลือกจาก "นางนพมาศ" ซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่า "ดาวจุฬาฯ" จนภายหลังการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวก็ได้มีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน


สำหรับ “พระเกี้ยว” เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่า เกี้ยว ถ้าเป็นคำนามแปลว่าเครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นคำกริยาแปลว่าผูกรัดหรือพัน

พระเกี้ยว เป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเรขาประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อซึ่งได้รับพระราชทานใหม่ตลอดมา

พระเกี้ยวองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์ เป็นพระเกี้ยวซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสร้างจำลองจากพระเกี้ยวจริงที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง และได้พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 25631 เมื่อ 13 ก.ค. 2532

ที่มา : หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง