หลากหลายมุมมอง กรณียกเลิกกิจกรรม "อัญเชิญพระเกี้ยว"

สังคม
25 ต.ค. 64
10:28
1,752
Logo Thai PBS
หลากหลายมุมมอง กรณียกเลิกกิจกรรม "อัญเชิญพระเกี้ยว"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ความเห็น 2 ด้านต่อกรณีสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมติให้ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานประเพณีฟุตบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ด้านองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ เปิดรับความคิดเห็นจากนิสิต บุคลากร และประชาชนต่อกรณีดังกล่าว

หลังจากแถลงการณ์ของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมติให้ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ซึ่งส่วนหนึ่งของงานประเพณีฟุตบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ด้วยมติยกเลิก 29 ต่อ 0 เสียง เผยแพร่ออกมา มีความเห็นของคนในสังคมอย่างหลากหลาย ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

เจ พัทธจิต ตั้งสินมั่นคง อดีตผู้อัญเชิญพระเกี้ยว งานฟุตบอลประเพณี ครั้งที่ 64 (ปี 2551) โพสต์เฟซบุ๊กJay Pattajit Tangsinmunkong เห็นด้วยกับการยกเลิกว่า

...ตอนที่ไปสมัครคัดเลือกเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว หรือแม้แต่ตอนที่นั่งบนเสลี่ยง ที่มีคนจำนวนมากแบกหาม ดีใจที่ผ่านด่าน ทั้งสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์กลุ่ม กิจกรรมกลุ่ม สัมภาษณ์เดี่ยว มาได้อย่างยากเย็น โดยไม่ทันคิดว่า นี่คือเครื่องสะท้อน และเป็นการผลิตซ้ำระบอบอำนาจนิยม...

 

นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทวีตว่า กว่าจะมาถึงการยกเลิกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวได้ไม่ง่ายเลย สมัยที่ผมอยู่สภานิสิตจุฬาฯ พี่ ๆ ก่อนหน้า เพื่อน ๆ และนิสิตคนอื่น ๆ ก็พยายามสู้ทางความคิดและผลักดันจนบางครั้งระงับโครงการได้ แต่ก็ถูกขัดขวาง ถูกเพิกเฉย ต้องยกเครดิตให้ทุกท่านผู้มาก่อน แต่สำหรับผู้มาทีหลังก็มีอะไรที่ท่านทำได้อีกเยอะ

 

วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ โพสต์เฟซ บุ๊กวินทร์ เลียววาริณ ความตอนหนึ่งว่า

...พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์และพิจิตรเลขาประจำรัชกาล ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเกี้ยวก็คือที่ระลึกชิ้นเล็ก ๆ ที่เชื่อมนักเรียนและนิสิตกับพระองค์ มันเป็นรากของเรา เมื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ที่มา ก็จะรู้ว่าพระเกี้ยวไม่ใช่และไม่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เสมอภาค ตรงกันข้าม มันเป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ว่าคนฐานะใดก็ได้เล่าเรียนเท่ากัน มันยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้ริเริ่มสร้างมหาวิทยาลัย มันเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ และมันเป็นสัญลักษณ์ของความกตัญญู ชาวจุฬาฯ ไม่ว่ารุ่นไหน อย่าลืมเป็นอันขาดว่าปราศจากเจ้าของตราพระเกี้ยวนี้ ก็ไม่มีเรา ไม่มีเราก็ไม่มีอนาคตของเรา...

 

นายชัยวุฒ์ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะอดีตหัวหน้านิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2536 โพสต์เฟซบุ๊ก รมว.ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ระบุว่า

...ผมมีความภาคภูมิใจในอดีตที่ได้เคยเป็นส่วนหนึ่งในการเชิญพระเกี้ยวเข้ามาในงานฟุตบอลประเพณี ผมจำได้ดีว่าพวกเราทุกคนจะแบ่งหน้าที่กันทำกิจกรรมด้วยความภาคภูมิใจ ผมเชื่อมั่นว่านิสิตทุกคนที่อยู่ในงานมีความสุขและดีใจที่ได้มาร่วม แม้ว่าจะเป็นคนแบกเสลี่ยง เราก็ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ของเรา ...

 

 

คุณสมบัติผู้อัญเชิญพระเกี้ยว

สำหรับผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ข้อมูลจากเว็บไซต์หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติแห่งความเป็นจุฬาฯ อยู่ในตัวเอง พร้อมทั้งในแง่วิชาการและบุคลิกภาพ เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย ที่จะประชาสัมพันธ์งานฟุตบอลประเพณี และแสดงถึงภาพลักษณ์ของนิสิตจุฬาฯ ที่ดีสู่สังคม

บางปีคัดเลือกจาก "นางนพมาศ" ซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่า "ดาวจุฬาฯ" จนภายหลัง การคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว มีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ จนยกเลิกไปในที่สุด

อบจ.ขอความคิดเห็นสังคม

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) โพสต์ผ่านเพจเฟวบุ๊กว่า เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในสังคมจากหลายทิศทาง ทั้งนิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน ตลอดจนคนในสังคมที่เกี่ยวข้องกับจุฬาฯ โดยตรงหรือไม่ก็ดี ต่างแสดงความคิดเห็นว่า "อะไรคือความเป็นจุฬาฯ ที่แท้จริง" หากไม่ใช่พระเกี้ยวอันสูงศักดิ์ ในโอกาสนี้ขอเชิญทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว

 

 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก “พระเกี้ยว” สัญลักษณ์จุฬาฯ-ย้อนความเป็นมาขบวนอัญเชิญ

กก.สโมสรนิสิตจุฬาฯ มีมติให้ยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีฯ

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง