สำรวจโกดังผลิตถุงมือยางใช้แล้วส่งออก ตปท. - ล่าสุดส่งคดีให้อัยการสั่งฟ้องแล้ว

อาชญากรรม
25 ต.ค. 64
19:26
1,046
Logo Thai PBS
สำรวจโกดังผลิตถุงมือยางใช้แล้วส่งออก ตปท. - ล่าสุดส่งคดีให้อัยการสั่งฟ้องแล้ว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอสสำรวจโรงงานย่านลำลูกกา ที่เคยถูกจับกุมกรณีส่งออกถุงมือยางใช้แล้วไปต่างประเทศ ปัจจุบันถูกปิด ตำรวจส่งสำนวนคดีให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องแล้ว

วันนี้ (25 ต.ค.2564) ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สำรวจโกดังโรงงานแห่งหนึ่งใน อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โกดังแห่งนี้เคยถูกกล่าวหาว่า ส่งออกถุงมือยางอนามัยใช้แล้วไปยังต่างประเทศจำนวนหลายล้านชิ้น หลังจากตำรวจกองปราบปราม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำหมายค้นเข้าตรวจค้นเมื่อปลายเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว

เจ้าหน้าที่ตรวจพบหลักฐาน เครื่องจักรผลิตถุงมือ กล่องบรรจุภัณฑ์ ถุงมือยางทางการแพทย์ ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก.จำนวนมาก จึงได้อายัดไว้ตรวจสอบ พร้อมทั้งควบคุมแรงงานจำนวนหนึ่งไว้ดำเนินคดีในข้อหา กระทำผิด พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ เช่น นำเข้าเครื่องมือแพทย์ และฐานผลิต ขายเครื่องมือแพทย์ปลอม

จากการสำรวจโกดังแห่งนี้อีกครั้ง ยังพบความเคลื่อนไหว มีคนอยู่ภายในโกดัง และรถกระบะบรรทุกอย่างน้อย 3 คัน แต่ป้ายชื่อบริษัทเดิมถูกถอดออก สังเกตจากด้านในพบวัสดุคล้ายขวดพลาสติกอยู่จำนวนหนึ่ง หน้าประตูทางเข้าพบกองพลาสติกวางกองอยู่ข้างถังขยะ

ผู้อยู่ในพื้นที่ข้อให้มูลตรงกันว่า โกดังแห่งนี้เคยถูกเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ แต่ไม่ทราบว่ายังคงเปิดอยู่หรือไม่ 

ขณะที่ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรลำลูกกา จ.ปทุมธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ส่งสำนวนคดีไปให้อัยการพิจารณาแล้ว เบื้องต้นพบว่าโรงงานแห่งนี้ถูกปิดไปแล้ว

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วง COVID-19 มีความต้องการใช้ถุงมือยางทางการแพทย์เพิ่มขึ้นมาก ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพลักลอบนำเข้าและส่งออก ขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง


ตร.เผย 3 รูปแบบถุงมือยางใช้แล้ว

ด้าน พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า ตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จับกุมและตรวจค้นแหล่งผลิตถุงมือทางการแพทย์ผิดกฎหมายได้หลายราย มูลค่าหลายร้อยล้านบาท

พบพฤติกรรมผู้ต้องหาใน 3 ลักษณะ รูปแบบแรกนำถุงมือที่ใช้แล้วมาซักล้าง แล้วบรรจุในกล่องถุงมือทางการแพทย์ แบบที่ 2 นำเข้ามาเป็นถุงมือเปลือยแบบกล่องหรือกระสอบ แล้วนำมาบรรจุในกล่องถุงมือทางการแพทย์ รูปแบบที่ 3 ซื้อถุงมือแบบทั่วไปในประเทศไทย แต่นำมาเปลี่ยนเป็นกล่องถุงมือทางการแพทย์

ส่วนใหญ่จะจดเป็นรูปแบบบริษัทและเช่าโกดัง ซึ่งถุงมือที่ถูกปลอมเป็นถุงมือทางการแพทย์ จะจำหน่ายในประเทศและส่งออก จึงเป็นไปได้ว่าในช่วงที่ดำเนินการจับกุม บางส่วนอาจจะเล็ดลอดไปยังสหรัฐฯ

กรณีปลอมถุงมือทางการแพทย์ มีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ ปี 2551 ฐานไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ และฐานผลิต/ขายเครื่องมือแพทย์ปลอม มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีหากสั่งซื้อแล้วไม่ใช่ถุงมือทางการแพทย์ตามที่ตกลง ถือเป็นอีกกรณีคือฉ้อโกง โดยผู้เสียหายต้องมาแจ้งความดำเนินคดี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง