รู้จัก “ผำ” หรือ "ไข่ผำ" และวิธีเลี้ยง หลังรัฐจ่อดันเป็นซูเปอร์ฟู้ดของโลก

สังคม
26 ต.ค. 64
09:35
38,258
Logo Thai PBS
รู้จัก “ผำ” หรือ "ไข่ผำ" และวิธีเลี้ยง หลังรัฐจ่อดันเป็นซูเปอร์ฟู้ดของโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนมาทำความรู้จัก "ผำ" หรือ ”ไข่ผำน้ำ” ให้มากขึ้น รวมถึงวิธีการเลี้ยงพรรณไม้น้ำที่รัฐบาลกำลังจะผลักดันให้นำร่องเป็นซูเปอร์ฟู้ดของโลก

หลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จับมือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดัน “1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตร” ขับเคลื่อนนโยบายรัฐพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร นำร่อง “ผำ” หรือ ”ไข่ผำน้ำ” เป็น ซูเปอร์ฟู้ดของโลก ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนมาทำความรู้จัก "ผำ" ให้มากขึ้น รวมถึงวิธีการเลี้ยงพรรณไม้น้ำชนิดนี้

(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : รัฐบาลเตรียมนำร่องดัน “ผำ” เป็น ซูเปอร์ฟู้ดของโลก)

ไข่น้ำ (Wolffia arrhiza (L.) Wimm.) หรือชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า "ผำ" หรือ "ไข่ผำ" เป็นพรรณไม้น้ำประเภทลอยน้ำขนาดเล็กในวงศ์ Lemnaceae พบในแหล่งหนองบึงหรือแหล่งน้ำขัง รูปร่างเป็นเม็ดสีเขียวกลมหรือเกือบกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1.5 มิลลิเมตร ไม่มีราก เป็นพืชที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก


องค์ประกอบทางโภชนะของไข่น้ำพบว่า มีโปรตีน เบต้า-คาโรทีน และคลอโรฟิลล์จากการสังเคราะห์แสง ไข่น้ำมีปริมาณโปรตีนในระดับเดี่ยวกับเมล็ดถั่วชนิดต่าง ๆ เมล็ดธัญพืช มีเส้นใยสูง มีปริมาณกรดอะมิโนที่จำเป็นไม่ต่างกับไข่ไก่ สาหร่ายเกลียวทอง และคลอเรลล่า นอกจากนี้คลอโรฟิลล์ในไข่น้ำมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) มากกว่าในสาหร่ายเกลียวทอง ซึ่งใช้รักษาอาการท้องผูก รักษาสภาวะซีดในคนที่เป็นโรคโลหิตจางได้ ประโยชน์ของไข่น้ำสามารถนำมาใช้ปรุงอาหารพื้นบ้านทางภาคเหนือและภาคอีสาน เช่น แกงอ่อม แกงคั่ว ไข่ตุ๋น ไข่เจียว เป็นต้น รับประทานได้

ในธรรมชาติแหล่งเพาะเลี้ยงไข่น้ำพบในภาคอีสานและภาคเหนือบางส่วน เช่น ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม กำแพงเพชร อุทัยธานี ลำปาง เชียงใหม่ เป็นต้น บ่อเลี้ยงมีเฉพาะกลุ่มแม่ค้าที่เก็บไข่น้ำมา ขายตลาดสดในท้องถิ่น และเลี้ยงในบ่อดินขายส่งตลาดค้าส่งในในภาคอีสานและภาคกลาง การเพาะขยายพันธุ์ไข่น้ำสามารถขยายพันธุ์ได้ตลอดปีขึ้นกับปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยง

บริเวณที่พบบ่อเลี้ยงไข่น้ำส่วนใหญ่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ปกคลุม เช่น ต้นก้ามปู มะม่วง และมะขามเทศ ใบไม้ที่แห้งหล่นตกสะสมในพื้นก้นบ่อ
เมื่อย่อยสลายเป็นสารอินทรีย์สะสมในพื้นก้นบ่อ เป็นแหล่งของธาตุอาหารที่สำหรับไข่น้ำ และต้นไม้เหล่านั้นยังเป็นร่มเงาลดความเข้มแสงไม่ให้มากเกินไป เนื่องจากไข่น้ำเจริญเติบโตได้ดีในที่ร่มแสงรำไรสามารถแตกหน่อขยายพันธุ์แพร่กระจายได้ดีกว่าบ่อที่อยู่กลางแจ้งและมีสีเขียวเข้มมากกว่าบ่อเลี้ยงที่อยู่กลางแจ้ง

สารเคมีในน้ำข้อจำกัดบริโภคไข่น้ำ

ผลผลิตไข่น้ำส่วนใหญ่ได้จากบ่อเลี้ยงตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ช่วงที่มีผลผลิตมากที่สุดในช่วงปลายฤดูฝน (ต.ค.-พ.ย.) แต่มีผลผลิตไม่เพียงพอและไม่ต่อเนื่องตลอดปี ซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมบ่อเลี้ยงมีปริมาณน้ำในบ่อลดลงเมื่อเข้าฤดูแล้ง ทำให้ไข่น้ำในบ่อเลี้ยงเข้าสู่ระยะพักจมลงพื้นก้นบ่อทำให้ผลผลิตลดลง การเก็บเกี่ยวไข่น้ำแต่ละครั้งสามารถรวมไข่น้ำจากบ่อเลี้ยงได้ครั้งละ 20-50 กิโลกรัมต่อวัน

อย่างไรก็ตาม การนำไข่น้ำมาปรุงเป็นอาหารยังมีข้อจำกัดในการยอมรับของผู้บริโภค เนื่องจากสุขอนามัยความสะอาด ความปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมียาฆ่าแมลงที่มากับน้ำ จึงทำให้การยอมรับของผู้บริโภคในปัจจุบันลดลง ความนิยมในการบริโภคมีเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุในชนบทเท่านั้น รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคเพียงบางกลุ่มที่ทราบถึงคุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญในไข่น้ำ หรือผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพโดยนำไข่น้ำมาทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หรือปรุงเป็นอาหาร เนื่องจากในไข่น้ำมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงไม่แตกต่างกับในสาหร่ายเกลียวทองหรือน้ำคลอโรฟิลล์ที่วางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดในรูปอาหารเสริมซึ่งมีราคาสูง

การเลี้ยงไข่น้ำในบ่อดิน

การเตรียมบ่อ เหมือนการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่วไป ดังนี้

1. บ่อเลี้ยงไข่น้ำขนาด 10 – 50 ตารางเมตรสูบน้ำออก เพื่อกำจัดศัตรูของไข่น้ำโดยเฉพาะปลากินพืช ลูกปลาขนาดเล็กออกให้หมด

2.หว่านปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน อัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ ตากบ่อให้แห้งประมาณ 7 วัน การตากบ่อช่วยให้สารอินทรีย์ที่สะสมอยู่พื้นก้นบ่อย่อยสลายตัว

3.หว่านปุ๋ยคอกในบ่อดินให้ทั่ว หรือใส่กระสอบมัดตามมุมบ่อ ในอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่

4. สูบน้ำเข้าบ่อเลี้ยง โดยผ่านถุงกรองด้วยอวนไนล่อน หรือมุ้งเขียว เพื่อป้องกันไข่ปลา ลูกปลาที่มากันน้ำไม่ให้เข้าบ่อเลี้ยง ระดับน้ำ 50 – 80 เซนติเมตร

5. ปล่อยไข่น้ำ อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ไข่น้ำจะเริ่มแตกหน่อขยายพันธุ์ในบ่อเพิ่มจำนวนเรื่อย ๆ สามารถเก็บผลผลิตครั้งแรกในวันที่ 12-15 หลังปล่อยเลี้ยง และสามารถเก็บได้ทุก 6 วัน ทั้งนี้การเก็บผลผลิตแต่ละครั้งควรเก็บอัตราไม่เกิน 50% ของพื้นที่เพื่อให้มีมีพันธุ์ไข่น้ำขยายพันธุ์ต่อไป 

การเลี้ยงไข่น้ำในเพื่อบริโภคในครัวเรือน

ไข่น้ำสามารถเพาะเลี้ยงในบ่อขนาดเล็ก เช่น กะละมัง ถังพลาสติก ท่อซีเมนต์ เพื่อบริโภคในครัวเรือน ผู้เลี้ยงสามารถควบคุมคุณภาพความสะอาดและปลอดภัยจากสารเคมี ยาฆ่าแมลงได้ด้วยตัวเอง โดยการเพาะเลี้ยงไข่น้ำเพื่อบริโภคในครัวเรือนมีวิธีในการเพาะเลี้ยงง่าย ๆ ดังนี้

1. บ่อเลี้ยง ใช้ถังพลาสติก กะละมัง อ่างบัว อ่างยางรถยนต์ หรือท่อซีเมนต์กลม ที่สามารถหาได้ง่ายขนาดตามต้องการล้างทำความสะอาด ควรตั้งในที่ร่มใต้ต้นไม้หรือที่มีแสงรำไร หรือพรางแสงแดดด้วยสแลน 50% ทั้งนี้ หากเลี้ยงในบริเวณกลางแจ้งแสงแดดส่องถึงพื้นบ่อทำให้เกิดสาหร่ายชนิดอื่นซึ่งมีผลทำให้ผลผลิตไข่น้ำลดลงและมีสีซีดไม่เขียวเข็ม

2. เติมน้ำสะอาดจากน้ำประปา น้ำบาดาล หรือน้ำบ่อดิน สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ปริมาตรน้ำโดยประมาณ 100 ลิตร

3. ชั่งปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 16-16-16 หรือ 15-15-15 ประมาณ 10 กรัม หรือ 1 ช้อนแกง ละลายน้ำก่อน หรือห่อผ้า ใส่ในบ่อ

4. ใส่หัวเชื้อไข่น้ำ สามารถหาได้ตามตลาดสดทั่วไป อัตรา 20 กรัมต่อบ่อขนาด 1 ตารางเมตร การเจริญเติบโตไข่น้ำจะแตกหน่อขยายพันธุ์ใหม่ทุก 5-6 วัน และให้ผลผลิตสูงสุด 12-15 วัน หลังปล่อยเลี้ยง สามารถเก็บผลผลิตได้ และหากเก็บไข่น้ำอัตรา 50% ของพื้นที่บ่อเลี้ยงทุก ๆ 6 วัน ให้ผลผลิตแต่ละครั้งเฉลี่ย 475 กรัมต่อตารางเมตรและสามารถเลี้ยงได้ตลอดปี 

 

ที่มา : การเพาะเลี้ยงและการใช้ประโยชน์จากไข่น้ำการเลี้ยงผำ แบบง่าย ๆ



แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง