กอนช.เตือนหลายพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-ดินถล่ม 28 ต.ค.-3 พ.ย.นี้

ภัยพิบัติ
26 ต.ค. 64
10:21
1,553
Logo Thai PBS
กอนช.เตือนหลายพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-ดินถล่ม 28 ต.ค.-3 พ.ย.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศ ฉบับที่ 25 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 28 ต.ค. - 3 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2564 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศฉบับที่ 25/2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง โดยระบุว่า จากการคาดการณ์กรมอุตุนิยมวิทยา หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่างในช่วงวันที่ 27 - 28 ต.ค.2564

และในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ช่วงวันที่ 28 - 30 ต.ค.2564 มีฝนตกปานกลาง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางบางส่วน

ประกอบกับในช่วงวันที่ 28 ต.ค. - 3 พ.ย.2564 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากของกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 28 ต.ค. - 3 พ.ย.2564 ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น และเลย ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี และราชบุรี และภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา

2. เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี) ภาคตะวันออก (จ.นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี) ภาคกลาง (จ.สุพรรณบุรี ลพบุรี และสระบุรี) ภาคตะวันตก (จ.กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) ภาคใต้ (จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ภูเก็ต ตรัง และยะลา)

3. เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
3.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำมูล อ.พิมาย และ อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา อ.สตึก และ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ อ.ท่าตูม อ.ชุมพลบุรี และ อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี บริเวณลำน้ำพรม อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ บริเวณแม่น้ำพอง อ.น้ำพอง และ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น บริเวณแม่น้ำชี อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ อ.โคกโพธิ์ไชย อ.ชนบท อ.มัญจคีรี และ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น อ.โกสุมพิสัย และ อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ อ.จังหาร และ อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด อ.มหาชนะชัย และ อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี

3.2 ภาคกลาง บริเวณแม่น้ำป่าสัก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำลพบุรี อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี
3.3 ภาคตะวันตก บริเวณแม่น้ำท่าจีน อ.สามชุก อ.เมืองสุพรรณบุรี และ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อ.นครชัยศรี และ อ.สามพราน จ.นครปฐม บริเวณแม่น้ำเพชรบุรี อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมืองเพชรบุรี และ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี บริเวณแม่น้ำปราณบุรี อ.ปราณบุรี และบริเวณแม่น้ำบางสะพาน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
3.4 ภาคใต้ บริเวณแม่น้ำตาปี อ.พระแสง อ.พุนพิน และ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี บริเวณคลองท่าดี อ.ลานสกา อ.พระพรหม และ อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ ให้สอดคล้องกับการขึ้น - ลง ของระดับน้ำทะเล รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก
3. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
5. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

รู้จัก "เดลตา พลัส" AY.4.2 แพร่เชื้อเร็วขึ้น 15%

ไทยป่วยโควิดรายวัน 7,706 คน เสียชีวิตเพิ่ม 66 คน

รัฐบาลเตรียมนำร่องดัน “ผำ” เป็น ซูเปอร์ฟู้ดของโลก 

รวบคา รพ.! พนง.ธนาคารถอนเงินบัญชีลูกค้าเกือบ 10 ล้านบาท

"โซลชาร์" เก้าอี้ร้อน ลือสะพัด บอร์ดแมนยูทาบทาม "คอนเต้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง