จับกุม ผจก.รพ.-เครือข่ายลอบขาย "ฟาวิพิราเวียร์" ทางออนไลน์

อาชญากรรม
27 ต.ค. 64
11:41
1,057
Logo Thai PBS
จับกุม ผจก.รพ.-เครือข่ายลอบขาย "ฟาวิพิราเวียร์" ทางออนไลน์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจ ปคบ.ร่วมกับ อย.จับผู้ต้อง 9 คน ลักลอบนำยาฟาวิพิราเวียร์ไปขายทำกำไรทางออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ยึดของกลาง 390 กล่อง โดยหนึ่งในผู้ต้องหาเป็นผู้จัดการทั่วไปของ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

วันนี้ (27 ต.ค.2564) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ตรวจยึดยาฟาวิพิราเวียร์ 390 กล่อง จากผู้ต้องหา หลังบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 8 จุด พร้อมทั้งควบคุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 9 คน

เจ้าหน้าที่สืบสวบพบพฤติกรรมผู้ต้องหาลักลอบจำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ทางออนไลน์ โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงได้เฝ้าติดตามและกระจายตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 8 จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี

หนึ่งในผู้ต้องหาให้การกับตำรวจว่า ซื้อยามาจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง สั่งซื้อในนามโรงพยาบาลจากองค์การเภสัชกรรม แล้วนำมาจำหน่ายทำกำไร มีต้นทุนอยู่ที่กล่องละ 1,600 บาท แต่เมื่อนำมาจำหน่ายทางออนไลน์สามารถจำหน่ายได้ถึงราคา 4,000 - 8,000 บาท

 

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า 1 ใน 9 ผู้ต้องหา เป็นผู้จัดการทั่วไปของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ที่รับซื้อยาต่อจากโรงพยาบาล โดยอาศัยความสนิทสนมกับบุคลากรของโรงพยาบาล ในราคาประมาณกล่องละ 2,000 บาท และนำมาจำหน่ายต่ออีกทอดให้กับผู้ค้า ซึ่งเป็นผู้ต้องหาทั้ง 8 คน

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องติดตามอาการข้างเคียงและผลการรักษาระหว่างใช้ยา สำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว จึงไม่สามารถจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปได้

ยาชนิดนี้ต้องทำรายงานจาก อภ. เพื่อตรวจสอบควบคุมไม่ให้ยาหลุดออกนอกระบบ และไม่ควรนำมาจำหน่ายทางออนไลน์โดยที่ไม่มีแพทย์แนะนำ

เบื้องต้น พนักงานสอบสวน ปคบ.ได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ตามความผิดพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 ฐานประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

อ่านข่าวอื่นๆ

กต.ปัดสั่งเบรก มธ.รับ "โมเดอร์นา" บริจาคจากโปแลนด์

จับปรับจริง 5,000 บาท "รถควันดำ" ค่าทึบแสงมากกว่า 35%

จับ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" หลอกผู้เสียหายเพียบ สูญเงิน 2.4 ล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง