ศธ.แถลงพร้อมเปิดเรียน 1 พ.ย.นี้ - ร.ร.ขอเปิด On-site 10,000 แห่ง

สังคม
28 ต.ค. 64
11:54
20,511
Logo Thai PBS
ศธ.แถลงพร้อมเปิดเรียน 1 พ.ย.นี้ - ร.ร.ขอเปิด On-site 10,000 แห่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
1 พ.ย.นี้ ศธ.พร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 มีโรงเรียนขอเปิดสอนแบบ On-site กว่า 10,000 แห่ง รมว.ศธ.กำชับปฏิบัติตามเงื่อนไข-แนวปฏิบัติ-แผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด พื้นที่สีแดง-สีแดงเข้ม ครูอย่างน้อย 85% ต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม พร้อมยึดความปลอดภัยของผู้เรียน

วันนี้ ( 28 ต.ค.2564 ) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาสังกัด ศธ. ในวันที่ 1พ.ย.2564

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการออกประกาศ ศธ. เรื่อง หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 34) เพื่อกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักเรียน ครู และประชาชนทั่วไป ว่า โรงเรียนและสถาบันการศึกษา สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามแนวการเปิดภาคเรียนที่ 2/2546 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19

 

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ประกาศ ศธ.ฉบับนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษา เงื่อนไขของมาตรการ แนวปฏิบัติ แผนเผชิญเหตุ และรายละเอียดต่าง ๆ ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยมีสาระสำคัญ 5 ส่วน ดังนี้

1. เงื่อนไขหลักของมาตรการ Sandbox Safety Zone in School รองรับการเปิดภาคการศึกษาที่ 2/2564 โดยจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาแบบ on site จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19

2. เงื่อนไขข้อกำหนดของ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC), 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา (ประเภทไป-กลับ)

3.หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)

4. มาตรการตามแผนเผชิญเหตุตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ของสถานศึกษา

5.หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อการสอบ การฝึกอบรม หรือ การทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

“การเปิดเรียนแบบ on-site โรงเรียน หรือสถานศึกษาต้องผ่านการประเมินความพร้อมผ่าน Thai Stop Covid Plus (TSC+) และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID โดยถือปฏิบัติอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง"

 

ทั้งนี้ ครูและบุคลากรในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป สำหรับครูและบุคลากรในพื้นที่อื่น ๆ ต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป ส่วนนักเรียนไม่มีกำหนด อย่างไรก็ตาม ศธ.ได้รณรงค์ทำความเข้าใจให้นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนมากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและผู้ปกครองเอง

รมว.ศธ.กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังสำรวจจำนวนโรงเรียน ว่า ในภาคเรียนที่ 2/2564 นี้จะใช้รูปแบบใด โดยพบว่ามีทั้งขอเปิดแบบ on-site 100% หรือ on-site ส่วนใหญ่ รวมกว่า 10,000 โรงเรียน มีบางแห่งขอใช้รูปแบบผสมผสาน และมีบางพื้นที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยังไม่ให้เปิดแบบ on-site ในวันที่ 1พ.ย.นี้ แต่ให้เลื่อนไปเปิดวันที่ 15 พ.ย.2564 แทน

อย่างไรก็ตาม จะปิดเทอม 2/2564 พร้อมกันในวันที่ 1 เม.ย.2565 สำหรับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งสิ้น 869 แห่ง ตอบแบบสอบถามมา 832 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ 531 แห่ง ขอใช้รูปแบบผสมผสานคือมีทั้ง On-site และ On-line รองลงมา 192 แห่ง ขอใช้รูปแบบ On-line 100 % และจำนวน 109 แห่งขอใช้ On-site 100%

 

น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ระหว่างภาคการศึกษาโรงเรียนหรือสถานศึกษา สามารถจัดการเรียนการสอน ได้ทั้งรูปแบบ On-site หรือ Online หรือ แบบผสมผสาน (Hybrid), นักเรียน ครู และบุคลากร ทุกคนต้องประเมิน Thai Save Thai (TST) ตามเกณฑ์จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาด, มีการสุ่มตรวจคัดกรองหาเชื้อ (ATK) ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากร เพื่อเฝ้าระวัง

มีการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น, ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมข้ามกลุ่มกัน และจัดนักเรียนในห้องเรียนขนาดปกติ ไม่เกิน 25 คน หรือจัดให้เว้นระยะห่างระหว่างนักเรียนในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ตลอดจนมีสถานที่แยกกักตัวในโรงเรียน หรือพื้นที่แยกกักชั่วคราว รวมไปถึงแผนเผชิญเหตุสำหรับรองรับการดูแลรักษาเบื้องต้นกรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากรในสถานศึกษากรณีมีการติดเชื้อ COVID-19 หรือผลตรวจคัดกรองหาเชื้อเป็นบวก โดยมีการซักซ้อมอย่างเคร่งครัด และควบคุมดูแลการเดินทางกรณีมีการเข้าและออกจากสถานศึกษาอย่างเข้มข้น โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสในพื้นที่ต่างๆ ตลอดเส้นทางการเดินทาง ทั้งนี้ มาตรการและแนวทางต่างๆจะปรับตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ขึ้นกับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด หรือ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด

ทั้งนี้ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ประกอบด้วย1.Distancing เว้นระยะห่าง 2. Mask wearing สวมหน้ากาก 3.Hand washing ล้างมือ 4.Testing คัดกรองวัดไข้ 5.Reducing ลดการแออัด และ 6.Cleaning ทำความสะอาด ส่วน 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) อย่างเข้มข้น คือ 1.Self-care ดูแลตนเอง 2.Spoon ใช้ช้อนกลางส่วนตัว 3.Eating กินอาหารปรุงสุกใหม่ 4.Track ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน 5.Check สำรวจตรวจสอบ และ 6.Quarantine กักกันตัวเอง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศธ.แถลงพร้อมเปิดเรียน 1 พ.ย.นี้ - ร.ร.ขอเปิด On-site 10,000 แห่ง 

ปลดล็อก! กมอ.มีมติยกเลิกกรอบเวลาเรียนจบทุกปริญญา 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง