สสจ.เชียงใหม่ ชี้แจงผู้ต้องขังติดโควิด "อัลฟา พลัส" จากภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ภูมิภาค
29 ต.ค. 64
15:03
352
Logo Thai PBS
สสจ.เชียงใหม่ ชี้แจงผู้ต้องขังติดโควิด "อัลฟา พลัส" จากภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟา พลัส เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อที่ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

วันนี้ (29 ต.ค.2564) นพ.กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟาพลัส ใน จ.เชียงใหม่ ว่า ข้อมูลที่ได้จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องผลการตรวจสายพันธุ์แล้วพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟาพลัส ซึ่งมีการกลายพันธุ์ใน จ.เชียงใหม่ 2 คน โดยมีการส่งตรวจอย่างละเอียดเพื่อหาสารพันธุกรรม ซึ่งผู้ติดเชื้อทั้ง 2 คนเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ที่เคยมีการระบาดในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ผู้ต้องขังคนแรกที่ทำให้เกิดการติดเชื้อมาอีกครั้ง เป็นผู้ต้องขังที่เคยติดเชื้อเดิมในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากรักษาจนอาการดีขึ้น ก็ให้กลับไปใช้ชีวิตในเรือนจำ ซึ่งผู้ติดเชื้อคนนี้มีโรคประจำตัว เป็นภูมิคุ้มกันบกพร่อง

หลักฐานทางวิชาการอื่นๆ จะพบว่า ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีโอกาสที่จะกำจัดเชื้อได้อาจจะไม่ได้ 100% เหมือนผู้ติดเชื้อที่แข็งแรง ทำให้ผู้ติดเชื้อคนนี้มีอาการแย่ลงอีกครั้ง ผ่านไป 2-3 เดือน ในช่วงประมาณเดือน ก.ย. ผู้ที่ติดเชื้อคนนี้มีอาการทางเดินหายใจกลับมาอีกครั้ง ร่วมกับมีอาการติดเชื้อและตรวจพบวัณโรคปอดร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ต้องขังที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อคนนี้ ที่เป็นผู้ช่วยเหลือดูแลในแดนที่เป็นสถานพยาบาลของเรือนจำ มีการติดเชื้อเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการส่งตรวจเพื่อหาสารพันธุกรรมแบบละเอียดในกลุ่มที่มีการติดเชื้อ ในกรณีที่มีการติดเชื้อซ้ำ ผลการตรวจเบื้องต้นพบว่า เป็นสายพันธุ์อัลฟา คือเชื้อตัวเดิมกับที่เคยมีการระบาดมาในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากการตรวจหาสายพันธุ์ทั้งเส้นทั้งสาย หรือ Whole Genome Sequencing (WGS) ซึ่งผลการตรวจพบว่า มีตำแหน่งกลายพันธุ์บนเชื้อที่เป็นสายพันธุ์อัลฟา (เดิม) ในตำแหน่ง E484K เรียกจึงมีการเรียกชื่อแบบง่ายๆ ว่า “อัลฟาพลัส” ซึ่งก็คือ มีตำแหน่งกลายพันธุ์ในบางส่วนของยีนส์

การสอบสวนโรคพบว่า ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้มีการตรวจพบอัลฟาพลัส 2 คน ไม่มีประวัติเดินทางหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่อื่น แต่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อที่ผู้ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้ทั้งหมด 100% อาจมีการติดเชื้อที่เรื้อรังและยาวนานกว่าผู้อื่น เพราะฉะนั้นจึงมีตำแหน่งที่เกิดการกลายพันธุ์เกิดขึ้น

นพ.กิตติพันธุ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ใน จ.เชียงใหม่ พบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา และยังไม่พบว่ามีการกลายพันธุ์หรือตรวจพบสายพันธุ์เดลตาพลัสแต่อย่างใด

 

อ่านข่าวอื่นๆ

สธ.แถลงไทยพบโควิดอัลฟา พลัส 18 คน - เดลตา พลัส 1 คน

ศบค.ลด "สีแดงเข้ม" เหลือ 7 จังหวัด 4 จังหวัดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้

เปิด 3 ฉากทัศน์หลังเปิดประเทศ ชี้ไม่เข้มงวดติดโควิดวันละ 4 หมื่นคน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง