เปิดตัวแผนการก่อสร้าง "Orbital Reef" สถานีอวกาศเอกชนแห่งแรกของโลก

Logo Thai PBS
เปิดตัวแผนการก่อสร้าง "Orbital Reef" สถานีอวกาศเอกชนแห่งแรกของโลก
บริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศชั้นนำในสหรัฐฯ เปิดตัวแผนการก่อสร้างสถานีอวกาศ Orbital Reef ตั้งเป้าเป็นสถานีอวกาศเอกชนแห่งแรกที่โคจรรอบโลก

เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้บริหารบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศชั้นนำในประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศแผนการสร้างสถานี Orbital Reef โดยร่วมมือกับบริษัทเอกชนอื่น ๆ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งเป้าเป็นสถานีอวกาศเอกชนแห่งแรกที่โคจรรอบโลก เพื่อรองรับการใช้งานจากนักบินอวกาศนาซาและบริษัทภาคเอกชน ภารกิจการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์ การท่องเที่ยวอวกาศ โรงแรมอวกาศ การแข่งขันในยุคอวกาศครั้งใหม่กำลังเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งระหว่างบริษัทเอกชนชั้นนำด้านเทคโนโลยีอวกาศ

สถานีอวกาศ Orbital Reef ได้รับการออกแบบให้ใช้โมดูลต่าง ๆ เชื่อมต่อกันโดยใช้จรวด New Glenn ในการขนส่งโมดูลขึ้นจากโลก บริษัทวางแผนการก่อสร้างสถานีอวกาศดังกล่าวให้สำเร็จภายในระยะเวลา 10 ปี และใช้งานเต็มรูปแบบในช่วงปี 2030 การขนส่งนักบินอวกาศขึ้นเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศใช้บริการเครื่องบินอวกาศ Dream Chaser สามารถรองรับนักบินอวกาศได้ 3-7 คน และยานอวกาศ Starliner CST-100 สามารถรองรับนักบินอวกาศได้ 4-7 คน

ปัจจุบันจรวด New Glenn อยู่ในระหว่างการพัฒนาและเตรียมทดสอบครั้งแรกในปี 2022 ส่วนเครื่องบินอวกาศ Dream Chaser มีกำหนดการทดสอบในปี 2022 สำหรับยานอวกาศ Starliner CST-100 ก่อนหน้านี้ถูกยกเลิกการทดสอบในปี 2021 เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคและเตรียมทดสอบอีกครั้งในช่วงต้นปี 2022 โดยเทคโนโลยีจรวดและยานอวกาศทั้งหมดถูกออกแบบให้สามารถเดินทางกลับโลกเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ ซึ่งทำให้สามารถประหยัดงบประมาณในการขนส่งอวกาศได้หลายเท่าตัว

สถานีอวกาศ Orbital Reef อาจกลายเป็นพื้นที่สำคัญในการศึกษาวิจัยพัฒนารูปแบบวิธีการใช้ชีวิตในอวกาศเป็นระยะเวลานาน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางในอวกาศไปสำรวจพรมแดนใหม่ที่ห่างไกล เช่น ดาวอังคาร และทำหน้าที่เป็นสถานีอวกาศแห่งใหม่ทดแทนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ที่กำลังถูกปลดประจำการลงหลังหมดอายุการใช้งานก่อนปี 2030 ซึ่งเป็นระยะเวลาใกล้เคียงกันกับสถานีอวกาศ Orbital Reef สร้างเสร็จสมบูรณ์

ที่มาข้อมูลและภาพ: SNC, Engadget, Blue Origin
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง