กล้องอัจฉริยะ ตรวจนับการนอนของเด็ก ช่วยให้การเลี้ยงลูกง่ายขึ้น

Logo Thai PBS
กล้องอัจฉริยะ ตรวจนับการนอนของเด็ก ช่วยให้การเลี้ยงลูกง่ายขึ้น
บริษัทเอกชนในสหรัฐฯ พัฒนากล้องอัจฉริยะ ช่วยตรวจสอบเวลาที่ใช้ในการนอนหลับ การหายใจ การพลิกตัวของเด็กทารก สรุปข้อมูลส่งไปยังสมาร์ตโฟนของพ่อ-แม่ ช่วยให้การเลี้ยงลูกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น

การเลี้ยงดูเด็กทารกเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความเสียสละของคุณพ่อคุณแม่ ล่าสุดบริษัทเอกชนในประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนากล้องอัจฉริยะที่ช่วยให้การเลี้ยงดูเด็กทารกสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจสอบข้อมูลการนอนหลับของเด็กทารก ดูภาพวิดีโอวงจรปิดการนอนของลูกผ่านอุปกรณ์สมาร์ตโฟน เวลาที่ลูกนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนชื่นชอบ

กล้องอัจฉริยะถูกวางไว้ด้านบนของเตียงนอนเด็กทารก เพื่อจับภาพการนอนหลับของเด็ก โดยมีผ้าแถบลายจุดสี่เหลี่ยมติดเข้ากับชุดนอนของเด็ก เทคโนโลยีตัวกล้องจะใช้ลายจุดสี่เหลี่ยมดังกล่าวในการอ้างอิงเวลาที่ใช้ในการนอนหลับของเด็ก การหายใจ การพลิกตัวไปมาของเด็ก กล้องอัจฉริยะสามารถตรวจสอบได้ว่าเด็กกำลังนอนหลับหรือตื่นนอนและทำการสรุปข้อมูลส่งไปยังสมาร์ตโฟนของคุณพ่อคุณแม่ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถส่งเสียงพูดกล่อมลูกน้อยให้นอนหลับเพิ่มเติม

การติดตั้งกล้องอัจฉริยะสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง สิ่งที่ต้องระมัดระวังมีเพียงตำแหน่งการติดตั้งกล้อง ต้องอยู่ในตำแหน่งที่เด็กไม่สามารถใช้มือจับคว้าดึงกล้องลงมาได้ อุปกรณ์สายไฟฟ้าได้รับการห่อหุ้มด้วยวัสดุที่ไม่เป็นฉนวน หากเกิดกระแสไฟฟ้าขัดข้อง ทีมงานผู้พัฒนาคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งานเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง

การนอนหลับของเด็ก สำคัญต่อการเจริญเติบโต

การนอนหลับของเด็กมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กทารก ผลการศึกษาพบว่าหากเด็กนอนหลับไม่เต็มที่ อาจส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) เด็กทารกควรใช้เวลาในการนอนต่อวันประมาณ 16-18 ชั่วโมง ท่านอนของเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เช่น เด็กแรกเกิด แพทย์มักไม่แนะนำให้เด็กนอนคว่ำ เนื่องจากเสี่ยงต่อภาวะการเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ (Sudden Infant Death Syndrome) หากมีกล้องอัจฉริยะทำหน้าที่ตรวจสอบการนอนของเด็ก น่าจะเป็นวิธีการหนึ่งในการป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น กล้องอัจฉริยะช่วยเลี้ยงเด็กทารกได้รับความนิยมในต่างประเทศ และถูกพัฒนาขึ้นโดยหลายบริษัท สามารถแบ่งเบาภาระของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกและทำงานอยู่ที่บ้านไปพร้อม ๆ กัน

ที่มา: PCMag.com, Women's HealthYouTube Nanit
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง