ไขคำตอบ! ห้ามใช้มันหมูล่อ "เหยี่ยวแดง" กินผิดธรรมชาติเสี่ยงอ้วน

Logo Thai PBS
ไขคำตอบ! ห้ามใช้มันหมูล่อ "เหยี่ยวแดง" กินผิดธรรมชาติเสี่ยงอ้วน
สัตวแพทย์ มก.เตือนห้ามใช้ "มันหมู" ล่อเหยี่ยวแดงลงมากิน หลังพบจัดกิจกรรมชมเหยี่ยวแดงในพื้นที่ภาคตะวันออก ห่วงพฤติกรรมนกเปลี่ยน ติดใจอาหารฟรี จนลืมล่าเหยื่อกินเอง แถมเสี่ยงเป็นโรคอ้วน ไขมันพอกตับตายส่งผลประชากรลด

วันนี้ (3 พ.ย.2564) นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและบริการวิชาการทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า หลังจากได้รับข้อมูลการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวชมเหยี่ยวแดงกินอาหารในป่าชายเลน ทางจังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งพบว่ามีการใช้ “มันหมู หั่นเป็นเส้นบางๆ” โยนลงบนน้ำ เพราะมีน้ำหนักเบาและลอยน้ำ โดยพบฝูงเหยี่ยวแดงที่พบมากมารุมกินมันหมูคราวละหลายสิบตัว 

การใช้มันหมูมาล่อเหยี่ยวแดง ถือเป็นการให้กินอาหารผิดธรรมชาติ และส่งผลให้พฤติกรรมของนกชนิดนี้เปลี่ยน โดยเฉพาะสุขภาพ อนาคตเหยี่ยวแดงจะเกิดภาวะโรคอ้วน มีภาวะไขมันพอกตับ ส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ุ ร่างกายจะไม่ได้ป่วยตายเอง จนส่งผลให้ประชากรลดลง 
ภาพ : รายการเก๋ายกก๊วน

ภาพ : รายการเก๋ายกก๊วน

ภาพ : รายการเก๋ายกก๊วน

เคยเจอเคสนกเจอภาวะอ้วน-ไขมันพอกตับตาย

นายสัตวแพทย์เกษตร กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เคยรับรักษาเหยี่ยวแดงในกรงเลี้ยง และเจ้าของให้กินหมู กินไก่เลี้ยงแบบนี้มานาน กระทั่งเหยี่ยวแดงเจ็บป่วยและตาย เมื่อผ่าชันสูตรซาก จึงพบว่า อ้วนตาย มีไขมันพอกตับ พอกหัวใจ

ดังนั้น ในฐานะสัตวแพทย์ จึงเสนอทางออกเพื่อให้การท่องเที่ยวยั่งยืน โดยปรับ 2-3 ประเด็น คือใช้ปลาขนาดเล็กที่ชาวประมงหาได้ตามชายฝั่ง ซึ่งเป็นอาหารตามธรรมชาติของเหยี่ยวแดงอยู่แล้ว แนะนำว่าการให้อาหารควรเลี่ยงให้แค่ 2-3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้เหยี่ยวแดงไม่เสียพฤติกรรมติดใจอาหารฟรี

เพราะธรรมชาติของเหยี่ยวแดง คือออกหากินอาหารตามธรรมชาติ เช่น ลูกกระรอก  กบ เขียด ปู งู ปลา ที่เป็นอาหารของเหยี่ยวแดง เพื่อให้ไม่กระทบกับวิถีของเหยี่ยวแดงและวงจรห่วงโซ่อาหาร เท่าที่ทราบมีการทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าเหยี่ยวแดงมากินมันหมู เป็นตัวเดิม หรือตัวที่กินไขมันหมูไปมากๆ แล้วอ้วนตายหรือไม่

ค่อนข้างเป็นห่วง สถานภาพของเหยี่ยวแดง ประชากรลดลงในรอบ 30 ปี ถ้าป่วยตายลงไปเรื่อยๆ ก็เสี่ยงมากขึ้น เพราะตอนนี้มีปัจจัยเรื่องการล้วงเอาลูกนกมาขายในโซเชียลด้วย เพราะเหยี่ยวจะทำรังวางไข่ในจุดเดิม ประกอบกับต้นไม้ขนาดใหญ่ และไม้ในป่าชายเลนก็มีน้อย 

นายสัตวแพทย์เกษตร ยืนยันว่า เป็นการเสนอทางออกในฐานะสัตวแพทย์ ไม่ได้ขัดขวางต้องจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน แต่ต้องการให้กิจกรรมการท่องเที่ยววยั่งยืน รวมทั้งอยากให้จัดอาสาสมัครจากคนในชุมชน ให้เฝ้าระวังการล่าเหยี่ยวแดงไปเป็นสัตว์เลี้ยง หรือ ปกป้องการทำลายป่าโกงกาง ซึ่งเป็นแหล่งทำรังวางไข่ของเหยี่ยวแดง โดยประสานงานร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อความยั่งยืนของประชากรเหยี่ยวแดงในพื้นที่ระยะยาว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง