เปิดแผนที่ 49 จังหวัดเสี่ยง "หลุมยุบ"

ภัยพิบัติ
4 พ.ย. 64
12:32
3,837
Logo Thai PBS
เปิดแผนที่ 49 จังหวัดเสี่ยง "หลุมยุบ"
กรมทรัพยากรธรณี เร่งสำรวจพื้นที่ใกล้เคียงสวนทุเรียน อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี หลังเกิดหลุมยุบลึก 10 เมตรทำให้เจ้าของสวนวัย 70 ปีจมลงไประหว่างนั่งดูคนงานขุดเจาะหาน้ำบาดาล ชี้ภาคใต้มีความเสี่ยงเป็นเทือกเขาหินปูนเป็นโพรงใต้ดิน หากน้ำแห้งผนังพังถล่มได้

วันนี้ (4 พ.ย.2564) กรณีเกิดเหตุหลุมขนาดกว้างยุบตัวลึกลงไปกว่า 10 เมตร ภายในสวนทุเรียนหมู่ที่ 3 ต.เพิ่มพูนทรัพย์ อ.บ้านนาสาร ทำให้นายสุชาติ ศรีไกรไทย อายุ 70 ปี เจ้าของสวนที่ว่าจ้าง และนั่งดูช่างเจาะบาดาล ขณะทำงานอยู่จมลงไปในดิน หลังเกิดเหตุหน่วยกู้ภัย และเจ้าหน้าที่นำรถแบ็คโฮ ขุดหาร่างนายสุชาติ ใช้เวลา 16 ชั่วโมง จึงพบถูกดินทับเสียชีวิตในหลุม

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ เพื่อหาสาเหตุการเกิดหลุมยุบ หาแนวทางป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอย

สำรวจพื้นที่เสี่ยง อ.บ้านนาสาร ห่วงซ้ำรอย

นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี  ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า หลังเกิดเหตุหลุมบุบในสวนทุเรียน นักธรณีวิทยา จากสำนักงานทรัพยากรธรณีที่ 4 จ.สุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ตรวจสอบ เก็บข้อมูลพื้นที่แล้ว และตัวเองจะลงพื้นที่วันพรุ่งนี้ (5 พ.ย.) 

สำหรับภาคใต้ มีลักษณะทางธรณีวิทยา เป็นเขาหินปูน ที่ผ่านมาเคยมีรายงานเกิดหลุมยุบ เช่นในพื้นที่จ.กระบี่ ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช มีขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ปัจจัยของหลุมยุบถ้าเดิมในโพรงมีน้ำอยู่ก็อาจยังไม่พังถล่มลงมา 

เคสนี้สันนิษฐานว่าโพรงถ้ำที่ถล่ม เพราะผนังหินปูนน่าจะรับน้ำหนักเครื่องขุดเจาะน้ำบาดาลไม่ไหว จึงทำให้เกิดการยุบตัวลงไป ซึ่งกรมทรัพยากรธรณี จะสำรวจสภาพพื้นที่บริเวณใกล้เคียงในสวนทุเรียนเพิ่มเติม เพื่อแจ้งเตือนชาวบ้าน 

รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้สั่งห้ามการขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่อ.บ้านนาสาร เพราะเท่าที่รับรู้ข้อมูลในพื้นที่เป็นสวนทุเรียน สวนผลไม้ ก็มีขุดบาดาลมาใช้ทำการเกษตรกรรมอยู่แล้ว แต่เคสนี้ก็จะประสานกับทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้าไปตรวจสอบสภาพพื้นที่อีกครั้ง  

เร่งค้นหาผู้สูญหายจากหลุมยุบ 

นายกิตติพงษ์ ตั้งนรกุล คนขุดเจาะบาดาล กล่าวว่า ได้รับการว่าจ้างให้มาขุดเจาะบาดาลในพื้นที่ และเป็นการเข้ามาขุดเจาะวันที่ 2 และกำลังเตรียมจะถอนเครื่องขุดเจาะออก เพราะเจาะแล้วไม่พบชั้นทราย พบแต่ดินเหนียว ทำให้ดินข้างล่างไม่แข็งตัว ทำให้จุดที่นั่งอยู่ได้รับแรงสะเทือนจากเครื่องจักรทำให้ดินยุบลงมา ซึ่งวิธีการเจาะบาดลจะใช้วิธีนำน้ำมาวน หรือฉีดลงไปในการเจาะ

ขณะขุดเจาะที่ความลึกประมาณ 10 เมตร เกิดดินทรุดตัวห่างจากหลุมเจาะ 8 เมตร ทำให้เกิดเป็นหลุมกว้าง 5 เมตร ลึก 4 เมตร บริเวณที่นายสุชาติ นั่งดูการขุดเจาะบาดาลทำให้ ตกไปในหลุมดังกล่าว

โดยหลังเกิดเหตุ ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังวัดสุราษฎร์ธานี ได้นำรถแบ็คโฮ 2 คันมาช่วยขุดเพื่อค้นหาร่างผู้สูญหายที่ตกลงไปในหลุม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ดำเนินการค้นหาผู้ประสบภัย

ที่ไหนบ้างเสียงหลุมยุบ

สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยหลุมยุบ กรมทรัพยากรธรณี เคยทำแผนที่เสี่ยงภัยหลุมยุบระดับตำบล ระดับอำเภอ ทั่วประเทศจำนวน 49 จังหวัด เพื่อให้ท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ในการบริหารจัดการวางแผน  ดังนี้ กระบี่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร  เชียงใหม่ เชียงราย ตรัง ตาก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน ประจวบคีรี ขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พะเยา พังงา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่  แม่ฮ่องสอน ยะลา ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย สงขลา สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัยสุพรรณบุรี สุราษฏร์ธานี หนองบัวลำภู อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง