ฟังเสียงชาวไทยทรงดำ จ.สุราษฎร์ธานี กับการเลือกตั้ง อบต.

การเมือง
9 พ.ย. 64
11:02
405
Logo Thai PBS
ฟังเสียงชาวไทยทรงดำ จ.สุราษฎร์ธานี กับการเลือกตั้ง อบต.
ฟังเสียงพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยทรงดำ ใน จ.สุราษฎร์ธานี ที่ ต.ทรัพย์ทวี อ.บ้านนาเดิม ไม่เพียงแต่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ที่ดินที่ใช้ทำมาหากิน ยังถูกประกาศเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์

การเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่กำลังจะมีขึ้นในปลายเดือนนี้ พี่น้องกลุ่ม หรือ ไทยดำ ต.กรูด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี มีโอกาสได้เลือกตัวแทนของตัวเอง เข้าไปมีปากเสียงในสภาต่างจากชาวไทยทรงดำ ต.ทรัพย์ทวี อ.บ้านนาเดิม ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนเรื่องการประกาศทับที่ดินทำกิน และการควบคุมการยื่นขอออกทะเบียนบ้าน

ศูนย์เรียนรู้ ศูนย์กลางวัฒนธรรมของชาวไทยทรงดำ หรือ ชาวไทยดำ ภายในวัดดอนมะลิ ดูเงียบเหงา เพราะยังไม่มีกิจกรรมใด ๆ หลังพี่น้องชาติพันธุ์กลุ่มนี้ อพยพย้ายถิ่นฐานจาก จ.ราชบุรี เข้ามาปักหลักหาแหล่งทำกินแห่งใหม่ก่อตั้งชุมชนริมฝั่งแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2497

การเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่กำลังจะมีขึ้นในปลายเดือนนี้ ชาวบ้านหมู่ 2 ต.กรูด อ.พุนพิน ถือว่าโชคดีกว่าพื้นที่อื่นเพราะประชากรกว่า 200 ครอบครัว หรือร้อยละ 90 ล้วนเป็นชาวไทยดำ

อีกทั้งผู้สมัครสมาชิก อบต.ทั้ง 2 คน คือนายสุรเดช หมู่กอง กับนายอำนาจ แค้นคุ้ม ล้วนเป็นพี่น้องชาวไทยดำด้วยกันและกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีตัวแทนของตัวเองเข้าไปมีปากเสียงในสภา อบต.กรูด

ต่างจากชาวไทยดำ ต.ทรัพย์ทวี อ.บ้านนาเดิม ที่มีแม่น้ำตาปี กั้นแนวเขตกับ ต.กรูด อ.พุนพิน ที่พยายามต่อสู้เรียกร้องให้มีการพิสูจน์สิทธิ ปลดล็อกการควบคุมการทะเบียนราษฎร ไม่อนุญาตให้ขอยื่นออกทะเบียนบ้านเพิ่ม หลังที่ดินทำกินที่เคยอาศัยอยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถูกทางการออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่กลายเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ (นสล.)

นายทองเพียร รู้พันธ์ หนึ่งในพี่น้องชาวไทยดำ จ.สุราษฎร์ธานี เล่าว่า แม้ไม่มีโอกาสเลือก สมาชิก อบต.ทรัพย์ทวี ที่เป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ของตัวเองเข้าไปเป็นปากเสียง แต่ได้ฝากความหวังไว้กำนันตำบลทรัพย์ทวีคนใหม่ที่รับปากว่า จะเป็นตัวแทนประสานกับทางอำเภอและจังหวัดเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ

ชาวไทยดำ ต.ทรัพย์ทวี นำหลักฐานมายื่นต่อสำนักนายกรัฐมนตรี คือ ใบเสียภาษี หรือ ใบ ภ.บ.ท.5 ตั้งแต่ ปี 2509 , การออกทะเบียนบ้านให้ครั้งแรก เมื่อปี 2502 และบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อปี 2512 แต่หลังออกมาคัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เมื่อหลายปีก่อน มีความพยายามจากภาครัฐในควบคุมการออกทะเบียนราษฎร จำกัดชาวไทยดำ หมู่ 1 อยู่ที่ 17 ครอบครัว และหมู่ 4 อยู่ที่ 12 ครอบครัว นับแต่นั้นมา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง