10 วัน! เร่งระบายน้ำค้างรับมือทะเลหนุนระลอกใหม่ 20-27 พ.ย.นี้

ภัยพิบัติ
10 พ.ย. 64
16:13
884
Logo Thai PBS
10 วัน! เร่งระบายน้ำค้างรับมือทะเลหนุนระลอกใหม่ 20-27 พ.ย.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กอนช.ชี้ 10 วันก่อนน้ำทะเลหนุนระลอกใหม่ 20-27 พ.ย.นี้ ประสานเร่งระบายน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก-ท่าจีน ลดผลกระทบประชาชนในพื้นที่ริมน้ำ พร้อมจับตาเขื่อนแก่งกระจาน–เขื่อนเพชรน้ำล้น คาดไม่น่าห่วงเท่าปี 60

วันนี้ (10 พ.ย.2564) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า จากแนวโน้มสถานการณ์ฝนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในพื้นที่ตอนบน และตอนกลางของประเทศ ส่งผลให้ปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทอยู่ที่ 1,889 ลบ.ม.ต่อวินาที และมีทิศทางลดลงทำให้สามารถสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ และทุ่งรับน้ำได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ทุ่งผักไห่ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งเจ้าเจ็ด

นอกจากนี้จากทิศทางน้ำทะเลหนุนช่วงนี้อยู่ในช่วงขาลงประมาณ 10 วัน ขอหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการเพิ่มเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังริมแม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และท่าจีน ที่ปัจจุบันมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งทั้งหมดแล้ว เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็วก่อนวันที่ 20–27 พ.ย.นี้คาดว่าจะมีน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง ในช่วงดังกล่าวที่อาจะส่งผลต่อการระบายน้ำได้

 

10 วันเร่งระบายน้ำ-รับมือทะเลหนุนระลอกใหม่ 

นายสุรสีห์ กล่าวว่า ในช่วงดังกล่าวที่จะมีน้ำทะเลหนุนสูง และป้องกันไม่ให้ประชาชนริมน้ำได้รับผลกระทบ กอนช.ได้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง และหน่วยงานท้องถิ่น เตรียมการป้องกันในจุดที่ไม่มีคันกั้นน้ำ จุดเปราะบางต่างๆ ทั้งในพื้นที่กทม.และปริมณฑล รวมทั้งสำรวจ แก้ไขซ่อมแซมคันกั้นน้ำในจุดที่ชำรุดให้กลับมาใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุด

ภาพรวมระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆ มีทิศทางที่ลดลงแล้ว ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และท่าจีน แต่ยังคงมีจุดที่ยังมีน้ำท่วมขัง ส่วนภาคอีสาน ลุ่มน้ำชีมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมชลประทานเตรียมปรับลดบานระบายน้ำของเขื่อนบริเวณต้นน้ำชีตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.นี้

 

ชี้ "เพชรบุรี"น้ำท่วมไม่รุนแรงเท่าปี 60 

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ มีฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ส่งผลให้ห้วยแม่ประจันต์ มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นและต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนแม่น้ำเพชรบุรี มีจุดต้องเฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ บริเวณ อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด และอ.เมืองเพชรบุรี ซึ่งกรมชลประทาน วางแผนการระบายน้ำจากพื้นที่ผ่านคลองสายต่างๆ เพื่อลดปริมาณน้ำในลำน้ำรองรับปริมาณฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นในช่วงนี้

ขณะนี้กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำบริเวณ อ.เมืองเพชรบุรี อ.บ้านแหลม เร่งระบายน้ำในพื้นที่ลงแม่น้ำเพชรบุรี รวมถึงปิดการระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน พร้อมพิจารณาผันน้ำเข้าระบบส่งน้ำฝั่งขวาและฝั่งซ้าย 150 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะนี้ปริมาณน้ำที่เหลือจะไหลผ่านเขื่อนเพชรประมาณ 350 ลบ.ม.ต่อวินาที อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ แต่คาดการณ์ว่า อ.บ้านลาด บริเวณสถานีวัดน้ำ B16 บ้านลาดจะล้นตลิ่ง 40–60 ซม.

กอนช.ให้มีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำที่อาจะได้รับผลกระทบล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง  แต่คาดว่าปีนี้ลุ่มน้ำเพชรบุรีจะไม่รุนแรงเท่าปี 2560 จากการเตรียมความพร้อม รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำที่ดีขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขื่อนเพชรระบายน้ำเพิ่ม มวลน้ำถึงเทศบาลเมืองเพชรบุรี 4 โมงเย็น

เตือน 9 จังหวัดใต้ฝนตกหนัก-อ่าวไทยคลื่นลมแรง 10-13 พ.ย.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง