รู้จัก "แม่จ๊ะเอ๋" ผ่านโครงกระดูกวาฬบรูด้า 126 ชิ้น

สิ่งแวดล้อม
11 พ.ย. 64
16:04
782
Logo Thai PBS
รู้จัก "แม่จ๊ะเอ๋" ผ่านโครงกระดูกวาฬบรูด้า 126 ชิ้น
เปิดใจทีมวิจัยอพวช.ใช้เวลา 1 ปีต่อจิ๊กซอว์ชีวิต "แม่จ๊ะเอ๋" วาฬบรูด้าในอ่าวไทยผ่านการเล่าเรื่องโครงกระดูก 126 ชิ้นสำคัญ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ปลุกจิตสำนึกเยาวชนร่วมรักษาทะเลบ้านของบรูด้าที่มีเพียง 60 ตัวในไทย
ลักษณะเด่นของแม่จ๊ะเอ๋ พบว่าครีบหลังจะมีเป็นแผลเป็นรูปตัววี ส่วนจงอยปากด้านหน้า จะมีตำหนิรอยแผลเป็นรอบปาก พฤติกรรมชอบโผล่ขึ้นมาอ้าปากงับๆ เป็น 10 ครั้งเหนือน้ำ 

นายชลวิทย์ ทองเจริญชัยกิจ นักวิชาการ 6 สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ พร้อมเฉลยว่า 

โครงกระดูกที่เห็นด้านหลังคือ "แม่จ๊ะเอ๋" 1 ในวาฬบรูด้า 61 ตัวในอ่าวไทยรูปตัว ก.ที่มีการสำรวจ และตั้งชื่อตามตำหนิและอัตลักษณ์ของวาฬแต่ละตัว แต่น่าเสียดายว่าวันนี้ "แม่จ๊ะเอ๋" วัย 10 ปี เหลือเพียงชิ้นส่วนโครงกระดูกที่ถูกนำมาจัดแสดงให้เด็กๆและประชาชนได้เรียนรู้

จากเจ้าจ๊ะเอ๋ สู่ "แม่จ๊ะเอ๋" วาฬแม่ลูกสองในอ่าวไทย 

นายชลวิทย์ บอกว่า  ช่วงแรกทีมวิจัย ทช.สำรวจเจอวาฬบรูด้าที่มึตำหนิแผลเป็นรูปตัววี บริเวณครีบหลังค่อนข้างชัดเจนมาตั้งแต่ช่วงปี 53 แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นตัวผู้ หรือตัวเมีย เลยเรียกว่า "เจ้าจ๊ะเอ๋" กระทั่งในการสำรวจอีกครั้งกลับพบว่าวาฬตัวนี้มีลูก 2 ตัวว่ายอยู่ข้างกันๆในทะเลอ่าวไทย ซึ่งพฤติกรรมของวาฬตัวเมียที่จะทำหน้าที่ดูแลลูก จึงปรับเรียกว่าแม่จ๊ะเอ๋

จากเดิมเป็นเจ้าจ๊ะเอ๋ พอเห็นมีลูกว่ายอยู่ข้างๆถึง 2 ตัว จึงปรับสถานภาพ เป็นแม่จ๊ะเอ๋ พร้อมตั้งชื่อลูกวาฬตัวแรกว่า เจ้าตึก เพื่อเป็นเกียรติกับดร.กาญจนา อดุลยานุโกศล ผู้เชี่ยวชาญวาฬบรูด้า ที่เสียชีวิตไปแล้ว และอีกตัวชื่อว่า เจ้าหนึ่ง 

 

ทั้งนี้ แม้ว่าในไทยมีการจัดแสดงวาฬบรูด้าเก่าแก่ที่สุดอยู่ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช อายุ 100 ปี แต่ชิ้นส่วนวาฬบรูด้าขนาดใหญ่ถึง 11 เมตร และมีชิ้นส่วนที่สมบูรณ์ที่สุดที่ทีมวิจัย อพวช.ทำขึ้นโดยใช้เวลานานกว่า 1 ปีตั้งแต่แม่จ๊ะเอ๋ตายจนกระทั่งขึ้นโครงสำเร็จในเดือนพ.ย.64 ยังไม่เคยมีมาก่อน 

โครงกระดูกแม่จ๊ะเอ๋ มีความพิเศษกว่าวาฬตัวอื่นๆ เพราะเป็นวาฬที่ ทช.จำแนกมาก่อน มีเรื่องราวตั้งแต่ยังมีชีวิต สำรวจพบใหม่ๆ ปี 53 จนเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นแม่ที่ลูก 2 ตัว จนตัวตายปี 63 แต่โครงกระดูกยังทำหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

1 ปีวิจัยเรื่องราวสู่เรื่องเล่าผ่านกระดูก  

หากถามถึงความยากง่ายในการวิจัยโครงการกระดูกวาฬบรูด้า นักวิจัยบอกว่า ชิ้นส่วนที่มีอยู่ 126 ชิ้น ของแม่จ๊ะเอ๋ ไม่ได้นำมาจัดแสดงทั้งหมด เพราะบางชิ้น เช่น เชิงกรานมดลูกที่ฝังในกล้ามเนื้อ กระดูกโคนลิ้น กระดูกหน้าอก และที่เป็นครีบคู่หน้าจะจัดแสดงต่างหาก เนื่องจากกระดูกทุกชิ้นมีสภาพสมบูรณ์ จึงไม่ใช้การเจาะชิ้นกระดูกให้จนเกิดความเสียหาย แต่ป็นการเข้าโครงแล้วแขวนจัดแสดง 

ชิ้นส่วนสำคัญน่าจะเป็นชิ้นส่วนกระโหลกศีรษะ และกระดูกซี่โครงคู่หน้า 2 คู่ และกระดูกหู จะสามารถใช้ในการจำแนกชนิดว่าเป็นวาฬบรูด้า และจุดเด่นคืออัตลักษณ์บนครีบหลังที่แหว่ง  
ภาพ:พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช.

ภาพ:พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช.

ภาพ:พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช.

 

น.ส.ฐิติมา ภู่มาก นักวิชาการด้านสัตว์สตัฟท์ อพวช.เล่าถึงขั้นตอนการเก็บและทำโครงแม่จะเอ๋  ตั้งแต่วันแรก หลังได้รับประสานจาก ทช.และพาน้องๆจากมหาวิทยาลัยต่างที่มาฝึกงานที่อพวช.เพื่อไปทำงานกับสัตวแพทย์ ทช.ในการผ่าซากแม่จ๊ะเอ๋  

เรายังไม่เห็นว่าเขาอยู่ตรงไหน แต่พอเปิดประตูออกไป กลิ่นมาก่อน ยังไม่ทันเห็นตัว แต่ตัว อยู่หลังพุ่มไม้ พอเดินไปสักพักก็เจอตัว มีชาวบ้านกำลังลากขึ้นมาเพื่อชันสูตรหาสาเหตุตาย

วันแรกที่ได้ซากมา จะหั่นเป็นท่อน แยกเป็นส่วนหัว ซี่โครง กระดูกสันหลัง 2 คนแบกหามหัวท้าย และชิ้นที่หนักที่สุดคือส่วนหัวกระดูกต้องใช้ผู้ชาย 4 คนหาม ใส่รถบรรทุกกลับมาที่ อพวช.จากนั้นเลาะเนื้อออก และต้มทีละชิ้นส่วน โดยจะหั่นกระดูกออกทีละชิ้นทยอยต้มไป ใช้เวลาหลายเดือนค่อยๆทยอยทำเรื่อยๆ

ภาพ:พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช.

ภาพ:พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช.

ภาพ:พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช.

 

อยากเจอครอบครัว ลูกวาฬของแม่จ๊ะเอ๋

เธอบอกว่า ตอนที่ทำงานเสื้อผ้ากลิ่นติดตัวมาก เพราะไขมันวาฬ ไม่ใช่น้ำมัน แต่เป็นแวกซ์ที่ฝังเข้าไปติดเสื้อผ้า กลิ่นฝังในผิว ติดทนนานมาก อาบน้ำหลายรอบกว่าจะหาย เสื้อผ้ากว่าจะซักหาย โดยใช้ทีมงานมากเกือบ 50 คน ตั้งแต่วันแรกที่ไปเลาะซาก และทำโครงแม่จ๊ะเอ๋ ใช้เวลาเกือบ  1 ปีจนได้เป็นโครงการกระดูกที่เห็น

ดีใจที่ได้โครงวาฬที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศ เพราะขาดแค่จงอยปากที่หลุดลอยหายไปในทะเล โดย 126 ชิ้นที่ยากที่สุดคือ กระดูกส่วนหัว เพราะไม่มีหม้อขนาดใหญ่ที่จะต้มได้ จึงใช้การหมักด้วยแบคทีเรียในอ่างขนาดใหญ่ ใช้เวลาหมัก 3-4 เดือน คอยเปลี่ยนน้ำ และเบคทีเรียเข้าไป

ฐิติมา ยอมรับว่า ถึงแม้จะได้สัมผัสทุกชิ้นส่วนเป็นการนำความรู้เผยแพร่ และส่งต่อความรู้ต่อคนรุ่นต่อไปแต่ยอมรับว่าตัวเอง ก็ยังไม่เคยเห็นวาฬบรูด้าตัวเป็นๆ เคยเห็นแต่โครงกระดูกที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และที่แสมสาร จ.ชลบุรี 

แรงบันดาลใจตรงนี้ ถ้ามีโอกาสอยากไปดูวาฬบรูด้า ไปเจอครอบครัว เจอลูกๆ ของเขา
จินตนาการภาพ ตอนมีชีวิตของแม่จ๊ะเอ๋ นึกภาพตามทีวี ภาพที่ขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำ ลอยมาเล่นใกล้คนใกล้เรือให้ คนถ่ายรูป ถ้าเขายังมีชีวิตเขาคงจะมีความสุข

ข้อค้นพบรอยโรคจากกระดูกแม่จ๊ะเอ๋

นายชลวิทย์ บอกว่า ข้อค้นพบของงานวิจัยที่ทำหน้าที่นิติเวช สืบจากกระดูกของแม่จ๊ะเอ๋ คือทีมสัตวแพทย์มีการผ่าพิสูจน์มา พบว่าแม่จ๊ะเอ๋ มีการบาดเจ็บบริเวณกระโหลกศรีษะ ซึ่งเป็นเหตุผลให้บริเวณจะงอยปากบนหลุดและหักหายไป ขณะเดียวกันยังพบอีกว่าซี่โครงซี่ที่ 2 ข้างขวา ก็มีการหักบ่งชี้ว่าแม่จ๊ะเอ๋ มีการบาดเจ็บมาก่อน

รอยขีดที่เห็นทิ้งไว้แค่รอยแผลเป็น ถ้าสังเกตจะรอยหักปรากฎอยู่ บนกระดูกข้างขวาชิ้นที่ 2 เกิดก่อนจะตาย ไม่มีร่องรอยของการสมานแผล เป็นการค้นพบร่องรอยเพิ่มเติมจากการชันสูตรตอนผ่าซาก

นอกจากนี้ในชิ้นที่ 10 ของซี่โครงส่วนอก พบรอยขีดอยู่บ่งชี้ว่าเคยบาดเจ็บในอดีตมาก่อน จนทำให้เงี่ยงจุดนี้เกิดอาการหัก แต่แผลสมาน และรักษตัวเองได้และทิ้งไว้เพียงแผลเป็นเท่านั้น 

ส่วนสาเหตุการตายจริง ๆ อาจจะเกินจากการอ่อนแอ อ่อนแรงควบคู่ไปกับการตกเลือด ขณะนั้นแพทย์ได้ชันสูตร พบว่าแม่จ๊ะเอ๋ มีก้อนเลือดบริเวณช่องอก และช่องท้อง การผ่ากระเพาะอาหารก็ไม่พบเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ ที่ลำไส้ก็ไม่มีมูลหลงเหลืออยู่เลย หมายความว่าอาจจะอ่อนแรงและไม่สามารถกินอาหารได้อย่างปกติ 

รักษาทะเล เท่ากับรักษาวาฬบรูด้า

นายชลวิทย์ บอกว่า วาฬบรูด้า เพิ่งขึ้นบัญชีสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 16 ในแต่ละปีมีสัตว์ทะเลหายากตายลง ทั้งจากเจ็บป่วย เช่น แม่จ๊ะเอ๋ แต่บางตัวก็ตายจากเครื่องมือประมง ดังนั้นวิธีการที่จะลดความสูญเสียคือต้องกลับมาให้ความสำคัญ หรือใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น

เมื่อไรที่ทะเลดี แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย และเป็นหลักประกันว่า ถ้าเรานั่งเรือออกทะเล อ่าวไทยทุกครั้ง ก็จะได้พบเห็นวาฬบรูด้ามาหากิน อย่างแม่จ๊ะเอ้ หากมีชีวิตยืนยาวก็อาจจะเป็น ยายจ๊ะเอ๋ ก็ได้ใครจะรู้

เช่นเดียวกับสิ่ง ที่ฐิติมา อยากฝากก็คือต้องการให้โครงวาฬแม่จ๊ะเอ๋ เป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวของของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวนี้ไปยังเด็กรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้สิ่งมีชีวิตที่อยูในทะเล ในป่า ได้ปลูกฝังเรียนรู้ เรื่องเล่าจากโครงกระดูกให้อยู่ร่วมกันได้

สำหรับโครงกระดูกแม่จ๊เอ๋ จะจัดแสดงในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ปี 64 ที่เมืองทองธานีถึงวันที่ 19 พ.ย.นี้ จากนั้นจะมีการเคลื่อนย้ายไปดูแลที่อพวช.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครั้งแรก! "วาฬบรูด้าแม่จ๊ะเอ๋" โชว์งานวิทยาศาสตร์ 9-19 พ.ย.

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง