ย้อนที่มาปมเหยียดคนอีสาน จาก #คลับเฮาส์toxic บนโลกโซเชียล

สังคม
11 พ.ย. 64
17:15
4,486
Logo Thai PBS
ย้อนที่มาปมเหยียดคนอีสาน จาก #คลับเฮาส์toxic บนโลกโซเชียล
นักประวัติศาสตร์ชี้ที่มาปมเหยียดคนอีสานมีหลายมิติ ปัญหาอยู่ที่ทัศนะการมองความแตกต่าง ที่เอามาวัดความสูงต่ำทางวัฒนธรรม-ความเป็นมนุษย์ จากกรณีคลับเฮาส์มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์คนอีสาน และเกิดแฮชแท็ก #คลับเฮาส์toxic

ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวในรายการตอบโจทย์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 64 ในประเด็นกรณีคลับเฮาส์มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์คนอีสาน #คลับเฮาส์toxic โดยพาย้อนประวัติศาสตร์ความเป็นมาเกี่ยวกับ "คนอีสาน" ว่า สามารถแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ในเขตพื้นที่ภาคอีสานที่เรียกกันในปัจจุบันเป็น 2 ช่วงเวลาหลัก ๆ คือช่วงก่อน-หลังอยู่ภายใต้อิทธิพลของสยาม ช่วงประมาณ รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 (100 กว่าปีก่อน)

"ก่อนช่วง ร.4 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เวียงจันทน์ ในบางช่วงเวลาก็อยู่ที่หลวงพระบาง ประชากรที่อยู่ช่วงลุ่มน้ำโขงทั้งหมด คือเป็นคนลาว มีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย"

ผศ.พิพัฒน์ อธิบายว่า ช่วงสมัย ร.4 - ร.5 การรับรู้ของคนไทย คือคนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถูกเรียกว่าลาว แต่เมื่อฝรั่งเศสขยายอาณานิคมและต้องการครอบครองลุ่มน้ำโขง ทำให้รัฐบาลสยามที่กรุงเทพฯ ต้องปรับปรุงเรื่องเขตแดน ในขณะเดียวกันก็ขยายอำนาจไปปกครองบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือดินแดนเดิมที่เป็นของอาณาจักรล้านช้าง

 

กระทั่งช่วงที่ฝรั่งเศสรุกคืบอย่างหนัก ทำให้รัฐบาลสยามต้องทำการผนวกรวมดินแดนที่ห่างไกลออกไป "ให้กระชับมากขึ้น" ดังนั้น ราว พ.ศ. 2430 เกิดระบอบการเมืองแบบเทศาภิบาล มีการแบ่งพื้นที่การปกครองในบริเวณนั้นออกเป็นมณฑลต่าง ๆ ระยะแรกแบ่งเป็นมณฑลลาวกาว ลาวพวน เป็นต้น ภายหลัง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตั้งชื่อมณฑลใหม่โดยการใช้ทิศ ทำให้เกิด "มณฑลอีสาน" ในปี พ.ศ. 2443 และช่วง ร.6 พ.ศ. 2465 เกิด "ภาคอีสาน" เป็นครั้งแรก ทำให้เกิดความรับรู้ว่าคนที่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่าคนอีสาน และเกิดภาษาอีสานขึ้นมา

ปมที่มาปัญหาการเหยียดคนอีสานมาจากไหน ?

ประเด็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมของคนในภาคกลางลุ่มเจ้าพระยาซึ่งใช้ภาษาไทยกลาง กับคนลุ่มน้ำโขงที่ใช้สำเนียงย่อย อาจารย์ให้ความเห็นว่า

"ปัญหาของมันไม่ได้อยู่ที่ความแตกต่าง แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ทัศนะในการมองความแตกต่างนั้นต่างหาก ที่มันเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ เราเอาความแตกต่าง มาวัดความสูงต่ำทางวัฒนธรรม ทางความเป็นมนุษย์...อันนี้ผมว่ามันเป็นปมปัญหาที่มันสืบเนื่องมาเป็นร้อยปี"

ผศ.พิพัฒน์ อธิบายปมปัญหานี้ย้อนไปถึงช่วงเวลาที่พื้นที่บริเวณภาคอีสาน ถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของสยาม "เพราะฉะนั้นคนในพื้นที่ภาคอีสาน กลายเป็นคนที่เหมือนมีอำนาจทางการเมืองด้อยกว่า สิ่งที่ตามมาคือ กรุงเทพฯ ใช้วัฒนธรรมของความเป็นกรุงเทพฯ เป็นวัฒนธรรมที่เป็นแกนกลางหลักของความเป็นชาติ เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมอื่น ๆ เลยถูกด้อยค่าลงไป และมันจะเริ่มเกิดวิธีคิดในเรื่องของการดูถูกความเป็น ลาว มองว่าคนลาวมีการศึกษาที่น้อยกว่า หรือไร้การศึกษา มองว่าวัฒนธรรมของคนลาว เป็นวัฒนธรรมที่ด้อยกว่า หรือต่ำกว่า"

อาจารย์ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า "มิติของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มันไม่เท่ากัน คือรากเหง้าของปัญหาหนึ่งในสังคมไทย"

ปมที่มาของการเหยียดคนอีสานเกิดจากรัฐที่ปกครองในช่วงขณะนั้น ?

ผศ.พิพัฒน์ ตอบว่า ถ้ามองว่ารัฐเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างในการกำหนดความคิดของประชาชน รัฐก็มีส่วนในปมนี้ แต่ผ่านกระบวนการหลายอย่าง "เช่น ช่วง ร.5 ตามโรงเรียนต่าง ๆ พยายามจะใช้ภาษากลางเป็นภาษาหลักในการสอน ในสมัยนั้น หากใครใช้ภาษาลาว...หรือพูดภาษาท้องถิ่นขึ้นมาในโรงเรียนก็จะถูกลงโทษ"

และอธิบายเสริมว่า ภาคอีสานเพิ่งได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง ช่วงปี 2505 เมื่อเกิดแผนพัฒนาอีสานฉบับแรก สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หากใช้จุดแบ่งของเวลาเทียบภาคกลาง และภูมิภาคอื่น ๆ ระบบการศึกษา และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้พัฒนาไปก่อนแล้ว สิ่งที่ตามมาคือเมื่อภาคอีสานพัฒนาช้ากว่าภาคอื่น ก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำตามมา ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสาธารณูปโภค

ผศ.พิพัฒน์ ยกตัวอย่างว่า เมื่อระบบชลประทานยังไม่มีการพัฒนา แล้วเกิดฝนแล้ง คนอีสานก็ต้องอพยพเข้ามาในกรุงเทพฯ ในขณะเดียวกัน สื่อหรือนิยายต่าง ๆ ก็มักจะวางบทบาทของคนอีสานให้กลายมาเป็นตัวละคร เช่น คนใช้ คนขับรถ เป็นต้น ซึ่งอาจารย์ มองว่ามันยิ่งตอกย้ำภาพความยากจนของคนอีสาน "อันนี้ผมมองว่าเป็นปมปัญหาที่สืบเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำ หรือไม่เท่ากัน"

ตอบโจทย์ : ปมร้อน "คลับเฮาส์ toxic" ย้อนประวัติศาสตร์ "คนอีสาน"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง