เปิดข้อกฎหมาย "ยืน-ไม่ยืน" ในโรงภาพยนตร์

สังคม
12 พ.ย. 64
20:11
25,192
Logo Thai PBS
เปิดข้อกฎหมาย "ยืน-ไม่ยืน" ในโรงภาพยนตร์

คำพูดของนายกรัฐมนตรีที่กระตุ้นให้นักศึกษา วปอ.กล้าหาญที่จะยืนในโรงภาพยนตร์ ไม่ชัดเจนว่ามีมูลเหตุมาจากอะไร แต่ถ้าเข้าโรงภาพยนตร์ในช่วงเวลานี้ คงจะสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้เคยเป็นข้อถกเถียงในอดีตและเชื่อมโยงกับกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย

 

การยืนแสดงความเคารพระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ กลายเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง แม้จะกล่าวอย่างกระชับ แต่ก็มาพร้อมคำถาม

เมื่อคำกล่าวนี้มาจากปากของผู้นำประเทศ ปรากฏขึ้นโดยไม่มีเหตุเฉพาะหน้า ซึ่งเกิดขึ้นในพิธีเปิดหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ. และเกิดขึ้นภายหลังการอ่านคำวินิจฉัย คดีล้มล้างการปกครองของ 3 แกนนำกลุ่มราษฎร

ประเด็นถกเถียงดังกล่าว ปรากฏขึ้นอย่างกว้างขวางในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีเหตุการกระทบกระทั่งที่ลุกลามไปถึงความพยายามดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่กฎหมายครอบคลุมปัญหานี้หรือไม่

กฎหมายที่เกี่ยวข้องปรากฏให้เห็น ตั้งแต่พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับปี 2485 มาตรา 6 ให้ทุกคนต้องเคารพตามระเบียบ เครื่องแบบ หรือประเพณี (3) ระบุข้อกำหนดให้เคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีไว้ชัดเจน

กฎหมายฉบับนี้ ถูกกำหนดบทลงโทษไว้ชัดเจนในปีถัดมา ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ความคิดเห็นที่แตกต่างปรากฏขึ้นเป็นระยะ ปี 2550 มีรายงานเหตุกระทบกระทั่งในโรงภาพยนตร์ ฝ่ายหนึ่งขว้างปาสิ่งของใส่อีกฝ่ายที่ไม่ลุกขึ้นยืน ระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมี มีความพยายามดำเนินคดีตามกฎหมายจากแต่ละฝ่าย รวมถึงการใช้กฎหมายมาตรา 112

พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ระบุเหตุผลถึงการไม่ยืนแสดงความเคารพระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมี แม้เป็นกิริยาที่ไม่อยู่ในบรรทัดฐาน แต่ไม่อาจชี้ชัดว่ามีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

ภายหลังเหตุการณ์นี้ มีการรณรงค์ภายใต้ชื่อ ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม

ยกเลิกกฎหมายยืนในโรงหนัง

ถัดจากนั้นไม่กี่ปี ปรากฏการแก้กฎหมายที่มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับปี 2553 กำหนดยกเลิกกฎหมายฉบับเก่าทั้งสิ้น 5 ฉบับ ในมาตราที่ 3 ทำให้ พ.ร.บ.วัฒนธรรม ปี 2485 ถูกยกเลิกไปในเวลานั้น

ความขัดแย้งทางความคิดปรากฏขึ้นต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันทางผู้ให้บริการโรงภาพยนตร์ พยายามออกแบบมาตรการเพื่อรองรับปัญหานี้

2 ปีที่แล้ว มีผู้ใช้บริการบางราย สอบถามไปที่เครือเมเจอร์ ผู้ให้บริการโรงภาพยนตร์ เครือเมเจอร์ให้คำตอบในช่วงเวลานั้นว่า ขอความร่วมมือให้ยืน เพราะถือปฏิบัติกันมายาวนาน และไม่มีมาตรการเชิญลูกค้าออกนอกโรงภาพยนตร์

แม้การรับมือกับคำถามนี้จะแตกต่างกัน แต่ผลลัพธ์กลับถูกตั้งคำถามไม่น้อย เมื่อฝั่งที่ไม่ต้องการยืนเชื่อว่า ไม่มีทางเลือกสำหรับการใช้สิทธิเสรีภาพของพวกเขามากนัก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง