จับตา! วิกฤตผู้อพยพชายแดนเบลารุส-โปแลนด์ ส่อเค้าบานปลาย

ต่างประเทศ
13 พ.ย. 64
17:13
1,683
Logo Thai PBS
จับตา! วิกฤตผู้อพยพชายแดนเบลารุส-โปแลนด์ ส่อเค้าบานปลาย
วิกฤตผู้อพยพบริเวณพรมแดนเบลารุสกับโปแลนด์ ส่อเค้าเป็นความขัดแย้งในระดับภูมิภาค ขณะเดียวกันยังต้องจับตาแนวโน้มการเผชิญหน้าทางการทหาร เนื่องจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะยั่วยุจนเหตุการณ์บานปลาย

อุณหภูมิบริเวณพรมแดนระหว่างเบลารุสกับโปแลนด์ ดูจะร้อนระอุสวนทางกับสภาพอากาศหนาวจัด หลังจากกลุ่มผู้อพยพจากตะวันออกกลางและแอฟริกา พยายามฝ่าแนวรั้วลวดหนามเพื่อข้ามพรมแดนเข้าไปในโปแลนด์ จนเกิดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้อพยพกับเจ้าหน้าที่โปแลนด์

การสร้างรั้วลวดหนามตลอดแนวพรมแดน 2 ประเทศ ส่งผลให้ผู้อพยพนับพันต้องพักค้างแรมกลางป่าท่ามกลางอากาศที่หนาวจนติดลบ

ทางการโปแลนด์ คาดว่า ตัวเลขผู้อพยพที่แท้จริงในฝั่งเบลารุสอาจสูงกว่า 12,000 คน และสถานการณ์มีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้น นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ย.เป็นต้นมา มีผู้อพยพพยายามลักลอบข้ามพรมแดนเข้ามาในโปแลนด์แล้วไม่ต่ำกว่า 4,300 ครั้ง


โปแลนด์ ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่กำลังเผชิญวิกฤตคลื่นผู้อพยพ เพราะลัตเวียและลิทัวเนียต่างก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยรัฐบาลลิทัวเนียเคลื่อนกำลังทหารไปตามแนวชายแดน เพื่อรับมือกับคลื่นผู้อพยพและประกาศภาวะฉุกเฉินตามแนวชายแดน ซึ่งผู้อพยพส่วนใหญ่ใช้โปแลนด์ ลัตเวียและลิทัวเนียเป็นทางผ่าน เพื่อเดินทางต่อไปยังเยอรมนี ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางหลัก

นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ กล่าวหาว่าประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ให้ใช้กลุ่มผู้อพยพเป็นเครื่องมือในการตอบโต้กับสหภาพยุโรป ด้านผู้นำเบลารุสออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาอย่างแข็งกร้าว และขู่ระงับการส่งแก๊สเข้าสู่ยุโรป หากสหภาพยุโรปคว่ำบาตรเบลารุสเพิ่มเติม

ขณะที่กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์พิสัยไกลความเร็วเหนือเสียงขึ้นบินเหนือน่านฟ้าของเบลารุส ความเคลื่อนไหวของรัสเซีย ยิ่งทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับรัสเซียและเบลารุส ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น


ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ซึ่งได้รับฉายาว่า ผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายแห่งยุโรป นั่งเก้าอี้นานถึง 27 ปี นับตั้งแต่เบลารุสประกาศอิสรภาพเมื่อปี 1994 ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งเดือน ส.ค.2563 ผู้นำเบลารุสคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย นั่งเก้าอี้ผู้นำต่อเป็นสมัยที่ 6 สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนอย่างมาก เนื่องจากผลการเลือกตั้งที่ผิดปกติ นำไปสู่การเดินขบวนประท้วงและจบลงด้วยการใช้กำลังปราบปรามอย่างหนัก เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ประท้วงไปกว่า 32,000 คน

เหตุการณ์นี้ทำให้สหภาพยุโรปประกาศคว่ำบาตรผู้นำเบลารุส และบุคคลสำคัญของเบลารุสกว่า 160 คน จนสร้างความไม่พอใจและพยายามแก้แค้นสหภาพยุโรป

พรมแดนเบลารุส-โปแลนด์ กลายเป็นอีกหนึ่งจุดร้อนที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปตะวันตกกับยุโรปตะวันออกร้อนแรงขึ้นมาอีกระลอก แและยังไม่มีแนวโน้มจะจบลงง่ายๆ


ที่มา : Reuters, BBC, CNN, The Guardian

 

อ่านข่าวอื่นๆ

สหรัฐฯ เตือนภัยก่อการร้ายช่วงเทศกาลวันหยุด

"เนเธอร์แลนด์" ปิดเมือง 3 สัปดาห์คุมโควิดรอบใหม่ในฤดูหนาว

ศาลเมียนมาจำคุกนักข่าวอเมริกัน 11 ปี ข้อหาหนีเข้าเมือง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง