ใครควรจ่ายค่า ATK ? หลัง ร.ร.เอกชนให้ลูกตรวจโควิดทุกสัปดาห์

สังคม
16 พ.ย. 64
11:25
8,576
Logo Thai PBS
ใครควรจ่ายค่า ATK ? หลัง ร.ร.เอกชนให้ลูกตรวจโควิดทุกสัปดาห์
ผู้ปกครองในกลุ่มโรงเรียนเอกชน หวังรัฐช่วยสนับสนุนชุดตรวจ ATK หลังจากโรงเรียนกำหนดให้ตรวจทุกสัปดาห์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เผยโรงเรียนเอกชนควรเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครอง เพราะกำหนดมาตรฐานสูงกว่ามาตรฐานที่ ศธ. กำหนด

สัปดาห์นี้หลายโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เปิดเรียน On Site กันแล้ว ทั้งโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนในสังกัด กทม. ซึ่งโรงเรียนทุกแห่งต้องปฏิบัติมาตรการ Sandbox : Safety Zone in School ที่ ศบค.และกระทรวงศึกษาธิการ กำหนด

สิ่งที่ทางโรงเรียนเอกชนให้ผู้ปกครองปฏิบัติ สำหรับกลุ่มที่ต้องการให้เด็กมาเรียนแบบ On Site คือต้องลงทะเบียนไทยเซฟไทย พร้อมตอบแบบสอบถามคัดกรองโควิด-19 ของทางโรงเรียน และตรวจ ATK ให้เด็ก ๆ ทุกสัปดาห์

 

แม่ ๆ หลายคนที่มีลูกเรียนโรงเรียนเอกชน บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การตรวจคัดกรองโควิด-19 เป็นเรื่องจำเป็นและเห็นด้วย แต่การให้ตรวจ ATK เด็กทุกสัปดาห์จากที่บ้าน ถือเป็นภาระของผู้ปกครอง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่การตรวจ ATK ควรเป็นการตรวจด้วยน้ำลาย และชุดตรวจดังกล่าวที่หาซื้อได้ในขณะนี้มีราคาตั้งแต่ 70-100 บาท

ซื้อ ATK แบบน้ำลายมาแล้ว กล่องละ 90 บาท มีลูก 3 คน ก็ใช้ 3 กล่องต่อสัปดาห์
ที่บ้านมี ลูก 2 คน หาซื้อ ATK ได้กล่องละ 85 บาท ไม่มีถูกกว่านี้เลย รวมแล้วจ่ายค่าชุดตรวจสัปดาห์ละ 170 บาท ถ้าคิดเป็นเดือนก็ 340 บาท
หาซื้อชุดตรวจทางออนไลน์ พยายามหาของที่ อย.รับรอง และเลือกราคาที่ถูกที่สุด เพราะเราต้องจ่ายเงินเอง

เหล่าบรรดาแม่ ๆ มีข้อเสนอที่คล้ายกันว่า รัฐควรมีส่วนช่วยเหลือในการสนับสนุนชุดตรวจ ATK ให้กับเด็ก ๆ ซึ่งอาจจะเป็นการจัดงบประมาณมาให้ หรืออุ้มราคาชุดตรวจให้โรงเรียนซื้อได้ในราคาย่อมเยาว์ หรือทางโรงเรียนจะจัดหาชุดตรวจมาเองก็ได้ เพราะการซื้อสินค้าจำนวนมาก ๆ น่าจะได้ราคาถูกกว่า

ค่าเทอมก็จ่ายไปแล้ว ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ น่าจะรวมอยู่ในค่าเทอม ไม่ใช่เราต้องจ่ายเพิ่ม

ศธ.ไม่ได้กำหนดให้ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามทางออกเรื่องการสนับสนุน ATK ให้กับผู้ปกครอง กับนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้คำตอบว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้กำหนดให้ใช้ ATK ไม่ว่าจะแบบสุ่มตรวจหรือตรวจทุกสัปดาห์ ในหลักการกำหนดเรื่อง ATK จะใช้ต่อเมื่อมีเหตุบ่งชี้ว่าโรงเรียนหรือชุมชนใกล้เคียงติดเชื้อโควิด-19 อย่างเช่นโรงเรียนที่ จ.กำแพงเพชร

 

การกำหนดให้ตรวจ ATK กับเด็กทุกสัปดาห์เป็นมาตรการที่โรงเรียนเอกชนกำหนดขึ้นมา ซึ่งเป็นการตั้งมาตรฐานเกินกว่าที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด จึงมองว่าทางออกของเรื่องนี้ โรงเรียนเอกชนน่าจะต้องเป็นผู้จัดสรร ATK ซึ่งควรเป็นแบบน้ำลายให้กับเด็ก ๆ เพราะเป็นมาตรการโรงเรียน และควรเป็นยี่ห้อเดียวกันที่ อย.ให้การรับรอง เพื่อให้ได้ผลตรวจที่เป็นมาตรฐาน

เราไม่ได้สั่งให้เขาทำ แต่เขาทำสูงกว่ามาตรฐานเรา ซึ่งทางกระทรวงคงห้ามมาตรการดังกล่าวไม่ได้ 

นายสุภัทร กล่าวว่า ผู้ปกครองต้องเจรจากับทางโรงเรียนโดยตรงเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งโรงเรียนเอกชนสามารถใช้งบฯ พัฒนาผู้เรียนสนับสนุนให้ได้

มีงบฯ ช่วยซื้อ ATK แต่ยังไม่โอนมา

เหตุผลที่โรงเรียนเอกชนต้องตั้งมาตรฐานสูง เพื่อรองรับการเปิดเรียนแบบ On Site ผศ.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน อธิบายว่า เพราะโรงเรียนเอกชนต้องลดความเสี่ยง เนื่องจากเด็กมาเรียนแบบ On Site ไม่ครบทุกคน บางคนยังไม่พร้อมก็เรียนแบบ On Demand อยู่ที่บ้าน

 

การตรวจ ATK ให้เด็กทุกสัปดาห์เป็นมาตรการเข้มข้นสูงสุดที่โรงเรียนเอกชนจะใช้ในช่วงแรกของการเปิดเรียน ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเดือนแรก (พ.ย.) เท่านั้น เนื่องจากโรงเรียนยังไม่สามารถจัดกลุ่มสีของเด็ก ๆ ได้ ซึ่งในช่วงเดือนแรกโรงเรียนจะแบ่งกลุ่มสีเด็กๆ จากประวัติการฉีดวัคซีนของคนในครอบครัว กลุ่มที่ผู้ปกครองฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มจะถูกจัดในกลุ่มสีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดงตามลำดับ

เมื่อแบ่งสีกลุ่มเด็ก ๆ ได้แล้ว เดือนถัดไป การตรวจ ATK ทุกสัปดาห์จะเน้นไปสีกลุ่มสีแดงเท่านั้น ขณะที่กลุ่มสีอื่น ๆ จะเป็นการสุ่มตรวจแบบสัปดาห์ละครั้ง หรือ 2-3 สัปดาห์ครั้ง

 

ผศ.ศุภเสฏฐ์ กล่าวว่า สำหรับการสนับสนุน ATK ให้เด็ก ขณะนี้มีแนวโน้มที่ดี ที่จะช่วยสนับสนุนได้บางส่วน เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เพิ่งสั่งการให้โรงเรียนเอกชน สามารถใช้เงิน 15 ปีเรียนฟรีในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มาใช้จ่ายในการดูแล คัดกรอง ตรวจป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ ซึ่งโรงเรียนต้องไปเขียนโครงการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์

สช.เพิ่งออกระเบียมาประมาณ 2-3 วันนี้ ตอนนี้ยังไม่มีกำหนดว่าจะโอนเงินมาเมื่อไหร่ และจำนวนเท่าไหร่ 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองไม่สามารถซื้อชุดตรวจ ATK ให้เด็กทุกสัปดาห์ได้ ก็สามารถเข้าไปคุยกับทางโรงเรียนเพื่อหาทางออก หรือเลือกเรียนแบบ On Demand ที่ทางโรงเรียนจัดไว้เพื่อเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง

 

ข่าวอื่น ๆ 

วันแรก! โควิดไทยป่วยลด 5,947 คน ยอดสะสมแตะ 2 ล้านคน

เปิดใจ "ครูพรพิมล" ควบ 5 ตำแหน่งในโรงเรียน จ.สระแก้ว

109 โรงเรียนสังกัด กทม.เปิดภาคเรียนแบบออนไซต์

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง